กคช. เสนอชื่อบอร์ดใหม่ทั้งคณะ

23 ส.ค. 2562 | 07:28 น.

สคร. ยัน ยังไม่มีรสก.เสนอเปลี่ยนแปลงรายชื่อบอร์ดเข้ามาตามข่าว มั่นใจปีงบ 62 เบิกจ่ายลงทุนตามแผน 3.33แสนล้านบาท พร้อมส่งรายได้เข้าแผ่นดินตามเป้า 1.68 ล้านบาท   ด้านควบรวม TOT-CAT คาดเสนอครม.อนุมัติ ก.ย.นี้  ขณะที่ TFFIF เฟส 2 ของทางหลวงอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย พร้อมเล็งนำรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-ม่วง ระดมทุน

กคช. เสนอชื่อบอร์ดใหม่ทั้งคณะ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีรัฐวิสาหกิจรายใด เสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะกรรมการ(บอร์ด)รัฐวิสาหกิจ เข้ามาให้สคร.พิจารณา มีเพียงการเคหะแห่งชาติรายเดียวที่เสนอเปลี่ยนแปลงรายชื่อบอร์ดใหม่ทั้งคณะเข้ามา เพราะบอร์ดชุดเก่าจะหมดวาระในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับกระบวนการเสนอการปรับเปลี่ยนบอร์ดของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้น จะต้องให้สคร.พิจารณาทุกราย ซึ่งหากมีการเสนอเพื่อขอเปลี่ยนยกชุดนั้น กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะต้องนำเสนอรายชื่อบอร์ดใหม่ทั้งหมดจำนวน 2 ชุด มาให้สคร.พิจารณาคัดเลือก แต่หากมีการเปลี่ยนบอร์ดเพียงรายบุคคล ทางบอร์ดที่เหลืออยู่ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อใหม่เข้ามา 2 ราย เพื่อให้สคร.คัดเลือก

จากนั้นสคร.จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป

 

สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2562 ของรสก. นายประภาศ ยืนยัน การเบิกจ่ายงบลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 333,951 ล้านบาท โดยล่าสุด ณ วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมรวม 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ขณะที่ด้านการนำส่งรายได้แผ่นดิน ในปีนี้ สคร.คาดจะเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 168,000 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้นำส่ง 188,800 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าของการควบรวมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยภายหลังการควบรวมแล้วจะเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ดูในรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติการควบรวมได้ภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการควบรวมกิจการประมาณ 6 เดือนหลังจาก ครม.อนุมัติ

กคช. เสนอชื่อบอร์ดใหม่ทั้งคณะ

ขณะที่ความคืบหน้าการระดมทุนผ่าน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เฟส 2 ของกรมทางหลวงนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายของกรมทางหลวง เพื่อให้นำรายได้จากค่าผ่านทางมาระดมทุนผ่าน TFFIF ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะสามารถนำโครงการของกรมทางหลวงเข้า TFFIF เฟส 2 ได้ในช่วงเวลาใด ส่วนเบื้องต้นคาดว่า หากระดมทุนจากกองทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายของกรมทางหลวงนั้น สคร.จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำสินทรัพย์ประเภทอื่น เข้ากองทุนด้วย โดยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่หากจะนำเข้ากองทุน TFFIF ต่อไป รวมถึงโครงการของโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ โครงการมอเตอร์เวย์สาย 7 และ 9 รวมถึงดอนเมืองโทลเวย์ด้วย ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่หน่วยงานของรัฐโดยตรง

การคัดเลือกโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปได้ที่จะระดมทุนผ่าน TFFIF นั้น จะต้องคัดเลือกสินทรัพย์ หรือกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีกระแสเงินสดมั่นคง และมีอัตราการเติบโตของกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวต่อผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยนายประภาศ กล่าว

กคช. เสนอชื่อบอร์ดใหม่ทั้งคณะ