‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

25 ส.ค. 2562 | 03:00 น.

“ 17 สิงหาคม 2562 เป็นอีกวันที่มีข่าวร้ายว่า “น้องมาเรียม” นางฟ้าพะยูนน้อย จากพวกเราไปแล้ว ด้วยเหตุอะไรหรือ? ฟังแล้วไม่น่าเชื่อทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้ว “ขยะพลาสติก” ทำให้นางฟ้าตัวน้อยช็อกจนเสียชีวิต ฟังแล้วช็อกตาม!! ”

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ...ที่ประเทศไทยควรจะมีการรณรงค์เอาจริงกับการทิ้งขยะพลาสติกและอื่นๆลงทะเล หรือไม่ทิ้งลงในถังขยะจนเกิดเลื่อนไหลลงสู่ทะเล ข้อมูลจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ ด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” ระบุประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีปริมาณมากกว่า 25 ล้านตัน และไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากเป็นอันดับ 6 คือ ประมาณ 10,000 ล้านตันต่อปี...น่าอายมั้ยล่ะ!!

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

ก็ต้องลุ้นกับรัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถึงกับลั่นว่า “มาเรียม ต้องไม่ตายฟรี” สั่งเร่งรณรงค์ ลด-เลิกใช้ถุงพลาสติก มีบทลงโทษกับผู้ทำผิดทิ้งขยะลงทะเล-ลำคลอง และขอให้ทุกกระทรวง รณรงค์เลิกใช้พลาสติกและชูแคมเปญ “มาเรียมต้องไม่ตายฟรี” โดยอยากให้คนไทยร่วมมือกัน ตระหนักและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยชอบตื่นตัวแค่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ พอเวลาผ่านไปไม่นานเรื่องก็จะเงียบกริ๊บ !!! 

โดยเฉพาะลดเลิกใช้ถุงพลาสติก บริเวณชายหาด แม่น้ำลำคลอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ “มาเรียมโปรเจ็กต์” คือการยกระดับแผนอนุรักษ์พะยูน ถอดบทเรียนการจัดการขยะทะเลร่วมกันในระดับชาติและนานาชาติ โดยเสนอให้วันที่ 17 สิงหาคม เป็น “วันพะยูนแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงมาเรียมและรณรงค์เรื่องขยะทะเลและสัตว์หายาก

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

การรณรงค์ให้เกิดขึ้นจริงนั้นคงต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ภาครัฐมีนโยบายที่นำและหนุนในทุกๆด้าน ภาคเอกชนที่มีบทบาทในการนำพัฒนาหาของทดแทนและจูงใจให้เกิดการใช้งานจริง ขณะที่ประชาชนเองต้องปลูกและปลุกจิตสำนึกในการใช้พลาสติกให้น้อยลง ทิ้งขยะในที่ที่ถูกที่ควร ไม่มักง่ายทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ ลำคลองถึงท้องทะเล...ถ้าทำได้ เมืองไทยก็คงจะสะอาดมากขึ้น

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

และตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 เป็นต้นมา..จำได้หรือไม่ว่า.. อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทั้ง 154 แห่ง ทางบก 128 แห่ง และทางทะเล 26 แห่ง ห้ามนำเข้าภาชนะที่ทำด้วยโฟม พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเข้าไปในเขตอุทยาน และสวนสัตว์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร หลอด และช้อน ส้อม ที่ทำจากพลาสติก ล่าสุดหลายประเทศเริ่มเอาจริง เช่น สนามบินซานฟรานซิสโก สั่งยกเลิกขายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่แรกในโลก เดินหน้าสู่สนามบิน Zero Waste ใน 2 ปี พราด้า และมีแผนในปี 2021 เปิดตัวกระเป๋าคอลเลกชัน “Re-Nylon” จะใช้วัสดุไนลอนที่มาจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกเท่านั้น เช่น แหจับปลา และเส้นใยสิ่งทอในทะเลหลังจากผ่านการรีไซเคิลแล้ว เป็นต้น 

มาดูกันว่าประเทศไทยเราทำอะไรไปบ้าง ขอยกตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกับเรื่องขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลที่เป็นปัญหาโลกก่อน ซึ่งนวัตกรรมสมัยใหม่สามารถทำให้ขยะเหล่านั้น “มีประโยชน์ต่อยอดสร้างรายได้”   

อย่าง Upcycling the Ocean Thailand โครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, ททท. และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf) เป็นการสร้างจิตสำนึกให้กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนทั่วไปของสเปน ตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลและร่วมเก็บขยะในทะเล แล้วนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ ECOALF  ซึ่งผ้ารีไซเคิลนี้ก็คือผ้าที่เกิดจากการนำขยะขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการทางเคมี แปลงเป็นเส้นใย ทอเป็นผืนผ้าโพลิเอสเทอร์ มีการนำมาผลิตเป็นเสื้อยืด กระเป๋าผ้า สายคล้องคอและแก้วย่อยสลายได้ หรือ GC Compostable cup ที่ส่งมอบให้กรมป่าไม้นำไปเพาะชำกล้าไม้ ของเหล่านี้เกิดจากขยะขวดน้ำพลาสติก 80,000 ใบ ผ่านกระบวนการ Upcycling

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้  

โครงการ “7 Go Green Recycled Plastic Road” ของ ซีพี ออลล์, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยฯ สร้างถนนรีไซเคิลจากขยะพลาสติก โดยบดย่อยให้มีขนาดเล็ก นำมาผสมกับยางมะตอย และเทราดปูถนน โครงการของบริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้งฯ ร่วมมือกันระหว่าง “รองเท้าแตะช้างดาว” จากนันยาง และ “ทะเลจร” แบรนด์ Upcycling วัสดุจากทะเลองค์กรไม่แสวงผลกำไร พัฒนาโปรเจ็กต์ “รองเท้า KHYA (ขยะ)” เกิดจากการ Upcycled ขยะทะเลที่เป็นรองเท้าแตะให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ “รองเท้า KHYA (ขยะ)” 1 คู่ เกิดจากเก็บขยะทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม ถ้าผลิต 200 คู่ เท่ากับเก็บขยะได้ 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตัน ทั้งนี้ต้องการให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและคุณค่าของขยะ และหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการ นักคิดรุ่นใหม่ ที่จะร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่ต่อไป 

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

ส่วนการปลุกจิตสำนึกเริ่มแรกไปดูตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเปิด “เติมเต็ม Refill Shoppe”  ร้านขายของชำและคาเฟ่ที่มีแนวคิดลดขยะ ภายในร้านจะมีสินค้าที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับคนที่ต้องการลดสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้น้อยที่สุด โดยจะมีสินค้าหลักๆ อยู่ 3 ประเภท คือ น้ำยาทำความสะอาด (ของใช้), ของกิน และอุปกรณ์ลดขยะ  

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้

จะเห็นได้ว่าแม้ขยะที่น่ารังเกียจถ้าเราช่วยกันคิด เก็บกลับ ก็สามารถสร้างประโยชน์ได้ เป็นอาชีพใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้  แต่ดีที่สุดไม่ควรสร้างขยะ และน่าจะถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเอาจริงช่วยกันเป็นหูเป็นตา รณรงค์ อนุรักษ์ ลด ละ เลิกใช้ เลิกทิ้งขยะพลาสติก กันเสียที เพื่อโลก สัตว์ทะเลและมวลมนุษยชาติ !!

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

‘ขยะพลาสติก’ ทำเงินสร้างรายได้