มอเตอร์ไซค์ดิ้นสู้ฟัดเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ GPXหันลุยรถครอบครัว

26 ส.ค. 2562 | 02:55 น.

 

ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ผ่านครึ่งปียังซึมยาว 2 ค่ายใหญ่ยอดร่วง หวังแก้เกมด้วยการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่“ยามาฮ่า” แจ้งเกิดสปอร์ต เฮอริเทจ ราคาตํ่าแสน “ฮอนด้า” ดันรถใหม่ทุกเดือน ส่วนค่ายเล็ก “จีพีเอ็กซ์” รีแบรนด์ พร้อมขยายไลน์รถครอบครัวและสกูตเตอร์ หลังยอดขายตก 32%

ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2562 พบว่ามีจำนวน 1,042,926 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ทำได้ 1,068,800 คัน โดยเบอร์ 1 และ 2 อย่างฮอนด้า และ ยามาฮ่า ยอดลดลง เช่นเดียวกับค่ายจีพีเอ็กซ์ ที่เดิมรั้งเบอร์ 3 ในปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ 7 เดือนหล่นลงมาอยู่อันดับ 5 ขณะที่อันดับ 3 และ 4 อย่าง เวสป้า และซูซูกิ ถือว่ายิ้มได้เพราะยอดขยับเติบโตด้วยกันทั้งคู่

การแก้เกมยอดตกของค่ายใหญ่อย่างฮอนด้า ได้เห็นการโฟกัสไปที่เซ็กเมนต์ที่ยังเติบโตในกลุ่มเอ.ที. โดยทำการปรับโฉมของฮอนด้า คลิก ไอ ซึ่งรถรุ่นนี้มียอดสะสมกว่า 2.6 ล้านคัน ถือเป็นผู้นำยอดขายสูงสุดในกลุ่มสปอร์ต เอ.ที. โดยคลิก ไอ 150i ใหม่ มาพร้อมราคา 6.07 หมื่นบาทและ คลิก 125i ใหม่ ราคา 5.1-5.47 หมื่นบาท ซึ่งฮอนด้าตั้งเป้าหมายยอดขายรถรุ่นนี้ 1.4 แสนคันในช่วง 1 ปีหลังการเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม

 

มอเตอร์ไซค์ดิ้นสู้ฟัดเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ GPXหันลุยรถครอบครัว

 

 

ส่วนยามาฮ่า ก็เพิ่งจัดหนักกับการเปิดตัวรถใหม่ 4 รุ่นรวดในช่วงเดือนสิงหาคม เริ่มตั้งแต่ XSR155 สปอร์ตเฮอริเทจรุ่นแรกในไทยราคา 91,500 บาท ซึ่งยามาฮ่าตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นเบอร์ 1 ของเซ็กเมนต์นี้ พร้อมทั้งทำยอดขายได้กว่า 2.25 หมื่นคันในปี 2563 ส่วนอีก 3 รุ่นที่เปิดตัวพร้อมกันคือ YZF-R1M ราคาพิเศษ 1,149,000 บาทและ YZF-R1 โฉมใหม่ที่เปิดตัวแห่งแรกในเอเชียราคา 849,000 บาท และอีก 1 รุ่นที่นำมาโชว์คือ YAMAHA SR400 รุ่นฉลองครบรอบ 40 ปี

เรียกได้ว่าพยายามโหมตลาดกันแบบเต็มที่เช่นเดียวกัน สำหรับฮอนด้าและยามาฮ่า

ส่วนที่ตัวเลขการขายหายไปเยอะ แถมยังหล่นจากอันดับ 3 ไปอยู่ที่ 5 อย่างจีพีเอ็กซ์ ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ล่าสุดปรับแผนครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่รีแบรนด์ ด้วยการเปลี่ยนโลโก ที่ใช้มากว่า 10 ปี ซึ่งโลโกใหม่ได้ให้ทางบริษัทโฆษณาชื่อดังอย่างโอกิลวี่เป็นผู้ออกแบบ ไม่เพียงเท่านั้นยังเปิดตัวรถใหม่ 3 รุ่น และเตรียมสื่อสารตลาดที่เข้มข้นกว่าเดิม พร้อมทั้งแผนบุกตลาดต่างประเทศ

“6 เดือนที่ผ่านมาเราย้ายโรงงานจากที่เดิมย่านประชาอุทิศ มาโรงงานแห่งใหม่ที่เกตเวย์ ที่ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า พร้อมทั้งจัดระบบหลังบ้านใหม่หมด และตอนนี้เรากำลังจะมาดูแลหน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าใหม่ ที่จะเป็นหัวฉีดทั้งหมด รวมไปถึงการเปิดตัวสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วเรายัง
ออกแบบโลโกใหม่ เพื่อจะให้แบรนด์ดูอินเตอร์มากขึ้น เพราะตามแผนงานที่เราวางไว้จะขยายตลาดส่งออก จากเดิม 7 ประเทศเพิ่มเป็น 20 ประเทศในปีหน้า”นายไชยยศ ร่วมใจพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบรนด์จีพีเอ็กซ์ กล่าว

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้จีพีเอ็กซ์ปรับเปลี่ยนโลโก เพราะเดิมภาพลักษณ์แบรนด์ดูสปอร์ต หรือเป็นมอเตอร์ไซค์วิบาก แต่หลังจากนี้ภาพของจีพีเอ็กซ์จะมีความหลากหลายมากขึ้น ล่าสุดได้ออกแบบและเปิดตัวรุ่นใหม่ POPz 125 ซึ่งถือเป็นรถครอบครัวรุ่นแรกที่จีพีเอ็กซ์ได้พัฒนาขึ้นมา

 

 

“เซ็กเมนต์รถครอบครัวเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีผู้นำเบอร์ 1 ที่ครองแชร์เยอะมาก แต่เราเชื่อว่ามันมีช่องที่จะแทรกเข้าไปเจาะ และเรามั่นใจว่ารถของเราออกแบบให้มีความแตกต่าง มีออพชันที่มากกว่า เป็นรถครอบครัวที่มีไลฟ์สไตล์ชัดเจน”

สำหรับ POPz 125 มีให้เลือก 5 สี 2 สไตล์ ได้แก่ ลักชัวรี สไตล์ และ แฟชั่น สไตล์ ราคาเริ่มต้น 41,500 บาท ส่วนรุ่นต่อมาที่เปิดตัวคือ RAPTOR 180 จักรยานยนต์สปอร์ตเนกเกดไซซ์เล็ก ที่มีให้เลือก 4 สี ราคาเริ่มต้น 59,500 บาท และอีกหนึ่งรุ่นที่เปิดตัวก่อนหน้านั้นคือ LEGEND 250 TWIN เครื่องยนต์หัวฉีด 2 สูบเรียง ราคา 79,5000 บาท

“เดิมเรามีรถเซ็กเมนต์สปอร์ตอย่างเดียว ดังนั้นพอตลาดนี้หดตัว เราก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้ต้องมองหาเซ็กเมนต์ใหม่ๆ เพื่อให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม และจึงเป็นที่มาของรุ่น POPz 125 รถครอบครัวที่เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นเรากำลังศึกษาพัฒนารถสกูตเตอร์ คาดว่าในปีหน้าจะได้เห็นส่วนความเป็นไปได้เกี่ยวกับรถไฟฟ้า ทั้งรูปแบบไฮบริดหรือไฟฟ้า100% เรามีทีมที่ศึกษาอยู่แล้ว เพราะคาดว่าเทรนด์ของรถไฟฟ้ามาแน่นอน”นายไชยยศ กล่าวสรุป

ทั้งหมดถือเป็นการผ่าแผนเพื่อกู้ยอดขายของจีพีเอ็กซ์ให้กลับมา ซึ่งการตอบรับของตลาดจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ ผู้บริหารหนุ่มจากจีพีเอ็กยังมั่นใจว่า เป้าหมายยอดขายของปีนี้ที่วางไว้ 25,000 คันนั้นจะทำได้อย่างแน่นอน 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562