เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

22 ส.ค. 2562 | 07:50 น.

รอลุ้นพรุ่งนี้!  “เฉลิมชัย” เคาะ 3 สูตรชดเชยรายได้ประกันสวนยางกิโลฯละ 60 บาท “สุนทร” เผยจ่ายทั้งบัตรเขียวพ่วงชมพู ใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาท ชดเชย 6 เดือน ควบมาตรการใช้ยางในประเทศเพิ่ม 1 ล้านตัน ดันโปรเจคใหม่เสริมยาแรง “แก้มลิงยาง” ให้สถาบันเก็บ หวังราคาพุ่งเกินประกันรัฐไม่ต้องจ่าย

 

นโยบายรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ของเกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสำคัญ ด้วยการชดเชย “การประกันรายได้” เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงสินค้ายางพาราที่มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 1 ล้านราย

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

วันที่ 22 ส.ค.62 นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ “ว่า วันนี้ได้ไปประชุมทำรายละเอียดกับผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง กิโลฯละ 60 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งทาง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านมีความตั้งใจสูงมากและมีความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่ม ดังนั้นวันนี้ในที่ประชุมจะมีการทำแพ็คเกจ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. บัตรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. บัตรสีเขียว (ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์) มีทั้งหมด 1.1 ล้านราย ในพื้นที่ 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว จากทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้ 15 ล้านไร่

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

2.บัตรสีชมพู (ไม่มีเอกสารสิทธิ์) มีพื้นที่เปิดกรีดยางแล้ว 3.8 ล้านไร่ จากทั้งหมด 5 ล้านไร่ มีเกษตรกร จำนวน 2.8 แสนราย หรือ แพคเกจที่ 3 ก็คือ จ่ายทั้งบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพู ทั้งนี้แนวทางการชดเชยให้เกษตรกรและคนกรีดยาง สมมติฐานตัวเลขที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินสำหรับการใช้บัตรสีเขียวอย่างเดียว (เมนูแรก) วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท ส่วนเมนูที่ 2 บัตรสีชมพูอย่างเดียว ใช้วงเงินกว่า 9 พันล้านบาท และเมนูที่ 3 รวม 2 เมนู (บัตรเขียวและบัตรชมพู) จะใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

“การคำนวณ จะต้องใช้กรอบระยะเวลาชดเชย 6 เดือน (120 กก./ไร่ หักออกจาก 240 กก.ไร่/ต่อปี) “โครงการประกันรายได้” ถือเป็นโครงการที่จะทำให้พี่น้องมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเยียวยาภายใต้การขายยางขาดทุนมา 5 ปีเต็ม แต่ก็ต้องพูดกันตรงว่าโครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้ยางในประเทศให้ถึงเป้าหมาย 1 ล้านตัน เช่น โครงการถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ และการทำอุปกรณ์จราจร ของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น และมาตรการการทำแก้มลิงยางโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะทำให้โครงการประกันรายได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้ราคายางขยับสูงขึ้น นั่นหมายความว่าการชดเชยส่วนต่างก็จะลดน้อยลงถ้าหากราคายางสูงถึง  60 บาทต่อกิโลกรัม แสดงว่ารัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าประกันรายได้”

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

สำหรับโครงการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 กรอบระยะเวลา 6 เดือน จากมติในทีประชุมจะประเมินผลทุก 2 เดือน แล้วจ่ายชดเชยทุก 2 เดือน จะมีคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และคณะกรรมการบริหารโครงการ อย่างไรก็ตามรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นที่ยังไม่มีผลสรุปเป็นมติในที่ประชุม จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่การประชุมการแก้ไขปัญหาราคายางกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันพรุ่งนี้ (23 ส.ค.62)”

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.

อย่างไรก็ดี นายสุนทร กล่าวในตอนท้ายว่า ในส่วนงบประมาณที่รัฐบาลจะชดเชยรายได้ให้กับชาวสวนยางและคนกรีดยางในอัตรา 60:40 เป็นเงินรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49  จะมีการชดเชยรายได้ 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบ กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาท/กก.และยางก้อนถ้วย 50 บาท/กิโลกรัม

เปิด 3 สูตร “ประกันรายได้ชาวสวนยาง” 60 บาท/กก.