“สนธิรัตน์”ชงโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนกว่า30% ให้กพช.ไฟเขียวกลางก.ย.นี้

21 สิงหาคม 2562

“สนธิรัตน์” เตรียมชง นโยบายให้ชุมชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือโรงไฟฟ้าชมุชน ให้กพช.พิจารณากลางก.ย.นี้ พร้อมเสนอปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580(PDP 2018)ให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงขึ้นจาก 30 %  ย้ำอยู่บนพื้นฐานค่าไฟฟ้าต้องถูกกว่าแผน PDP2018 ที่กำหนดไว้ 3.576 บาทต่อหน่วย ขณะที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) ยื่นให้ปรับโครงสร้างพลังงานใหม่

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมพิจารณาประเด็นที่จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2562 นี้ เบื้องต้นจะนำเสนอนโยบายพลังงานให้ กพช.เห็นชอบนโยบายที่จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกหรือโรงไฟฟ้าชุมชน รวมถึงอาจเสนอให้มีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580(PDP 2018) เพื่อให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580(PDP 2018) ที่กำหนดสัดส่วนจากพลังงานทดแทนไว้ 30% ของพลังงานทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าจะมีความหลากหลายตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นได้ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งหาก กพช.อนุมัติในหลักการแล้ว ทางคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียดเพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อไป


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

 

" การส่งเสริมให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าจะมีความหลากหลายตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นได้ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งหาก กพช.อนุมัติในหลักการแล้ว ทางคณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียดเพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อไป"

 

สำหรับการปรับแผนPDP2018 ต้องอยู่บนพื้นฐานราคาค่าไฟฟ้าต้องถูกลงจากแผนดังกล่าว ที่กำหนดไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุของแผนPDP2018

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนแกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต สว.สรรหา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าพบและร่วมหารือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศนั้น

  

ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพลังงาน ยินดีและพร้อมเปิดรับฟังทุกความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายพลังงานจากทุกๆ ฝ่ายอยู่แล้ว เพราะความเห็นต่างไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้งเสมอไป ซึ่งหากเป็นข้อคิดเห็นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทุกคน และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ก็พร้อมที่จะนำทุกข้อคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสม และเปิดกว้างให้กลุ่มได้มาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงพลังงานด้วย

“สนธิรัตน์”ชงโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนกว่า30% ให้กพช.ไฟเขียวกลางก.ย.นี้

ทั้งนี้ กลุ่ม คปพ.ได้มีข้อเสนอแนะ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การจัดการผลประโยชน์ปลายน้ำ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซในประเทศ และผลกระทบต่อประชาชน 2. การจัดการผลประโยชน์ต้นน้ำระหว่างประเทศ กรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 3. การจัดการผลประโยชน์ต้นน้ำในประเทศ Producting Sharing Contact 4. การแยกเป็น PTTOR แบ่งผลประโยชน์กระทรวงการคลังกับผู้ถือหุ้น และเลี่ยงกฎหมายรัฐวิสาหกิจ 5. การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. 51% ไม่เป็นธรรม

 

ขณะที่ราคาขายปลีกพลังงาน คปพ.นำเสนอให้แก้ปัญหาที่โครงสร้างราคาแทนการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน เพราะกองทุนน้ำมันฯก็นำเงินมาจากประชาชน สุดท้ายประชาชนเป็นผู้จ่ายแพงอยู่ดี โดยเสนอให้ลดต้นทุนที่เป็นค่าขนส่งเทียม โดยยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งปัจจุบันอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งในการนำเข้า ซึ่งจะลดต้นทุนขนส่งได้ 50-60 สตางค์/ลิตร และปัจจุบันการกลั่นน้ำมันในไทยเกินความต้องการจนต้องส่งออกไป ควรลดกำลังการกลั่น ทบทวนบริหารผลประโยชน์ระหว่างโรงกลั่นกับประชาชน โรงกลั่นไม่ควรได้สิทธิประโยชน์มากเกินไป

 

นอกจากนี้ ราคาเอทานอล และไบโอดีเซล (B100) การส่งเสริมยิ่งทำให้ราคาปลายทางแพงขึ้น การอ้างอิงราคาเอทานอลของไทย ทำให้ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าตลาดโลก ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุน ขณะที่ราคาเอทานอลไทยแพงกว่าบราซิล 70% แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับตกกับผู้ประกอบการไม่ถึงมือเกษตรกร โดยเสนอให้ ประชาชนสามารถผลิตและขาย B100 ได้โดยตรง ควรกระจายธุรกิจพลังงานสู่ชุมชน และยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ในขณะที่โรงงานผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล ซึ่งคุ้มทุนแล้วรัฐควรมีระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ไม่ได้ให้ไปตลอด

“สนธิรัตน์”ชงโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนกว่า30% ให้กพช.ไฟเขียวกลางก.ย.นี้

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กระทรวงพลังงานเริ่มจะปรับการใช้ B7 และปรับโครงสร้างน้ำมันดีเซลใหม่โดยสนับสนุน B10 และ B20 แก้ปัญหาการลักลอบปาล์มน้ำมัน กำหนดผู้ผลิตลงทะเบียนในระบบ ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วราคาปลายทางอาจจะแพงขึ้นได้ แต่ผลประโยชน์ต้องตกกับประชาชนด้วย โดยกระทรวงฯจะกำหนดสิทธิประโยชน์โดยดูเรื่องผลประโยชน์ต่อเกษตรกร และรับประกันว่า จะสามารถบริหารสมดุลด้าน Supply และ Demand ได้ โดยมอบ ปตท. คิดกลไกเพื่อได้ได้ราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ โดยที่ด้านกระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องประกันปริมาณปาล์มไม่ให้ขาดแคลนด้วย

 

ทั้งนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กล่าวว่า หากรัฐต้องการใช้ความแข็งแรงของปตท.เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชน โดยการเพิ่มบทบาทของ ปตท.จะต้องมีการตรวจสอบและสร้างความดุลในอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าเรื่องก๊าซหุงต้ม ปัจจุบันประสบปัญหา 3 ข้อ คือ 1. ภาคปิโตรเคมีใช้มากเกินไป 2. ราคาอ้างอิงราคานำเข้าทั้งที่ผลิตได้เองมากในประเทศ 3. ปตท. ผูกขาด โดยเสนอแนวทางแก้ไข คือ 1. จัดลำดับความสำคัญ ให้ ประชาชนได้ใช้ก่อน 2. ปรับกลับมาใช้ระบบ Pool

 

รวมถึงการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ระบุว่า ขอให้มีการตรวจสอบกลไกการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช เพราะระบบ  PSC ที่นำมาใช้ในการประมูลเป็นระบบ PSC จำแลง ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ได้ค่าภาคหลวงน้อยลง 

 

นอกจากนี้ ทาง คปพ. ยังระบุถึงความไม่เหมาะสมกรณีที่ข้าราชการเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนเพราะมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

 

ส่วนกรณี กฟผ. มองว่า แม้จะไม่ถูกแปรรูป แต่มีการเข้าไปล้วงลูก และเข้าไปทำประกันกำไรให้นักลงทุน ส่วนประชาชนเป็นผู้แบกรับการประกันกำไร รมถึงขอให้ทบทวนการอนุญาตเกี่ยวกับธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสมหรือไม่โปร่งใส จากการให้สิทธิบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตก ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน และการอนุมัติให้บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)หรือเอ็นทีเอส เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นกาซธรรมชาติ โดยไม่มีการแข่งขัน

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานที่รัฐมนตรีฯวางไว้ให้ตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยลดโลกร้อน และเรื่อง AI ส่วนเรื่องการสนับสนุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มองว่า รัฐตั้งภาษีแพงเกินไป พร้อมทั้งเสนอให้วางรากฐานให้ประชาชนเข้าถึงพลังงาน

“สนธิรัตน์”ชงโรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนกว่า30% ให้กพช.ไฟเขียวกลางก.ย.นี้