แนะรัฐทุ่มก๊อก2 เร่งเอกชนลงทุน

22 ส.ค. 2562 | 00:45 น.

แนะรัฐเตรียมก๊อก 2 กระตุ้นลงทุนในประเทศ หลังครม.ไฟเขียวมาตรการเร่งด่วน วงเงิน 3.16 แสนล้าน “ดูแลเกษตรกร-สวัสดิการ” แค่ประคองไม่ให้ทรุด แนะตอบโจทย์ภัยแล้ง ทั้งใช้ทรัพยากร-งบฯก่อสร้างแหล่งนํ้า

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนวงเงิน 316,812.9 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ประเมินว่า จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวเพิ่ม 0.54-0.56% มูลค่า 9.18-9.52 หมื่นล้านบาท เมื่อคำนวณจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ 17 ล้านล้านบาท

เมื่อจำแนกรายละเอียดพบว่า มาตรการดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้จีดีพีในปี 2562 โดยรวมเพิ่มขึ้น 0.061% มูลค่า 1.03 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพิ่มเงินให้ผู้มีรายได้น้อย 500 บาทต่อเดือนมีผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.041% คิดเป็นมูลค่า 5.74 พันล้านบาท มาตรการมอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน ผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.013% มูลค่า 2.21 พันล้านบาท มาตรการเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร0-6 ปี ผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.001% มูลค่า 170 ล้านบาท และการพักชำระเงินต้นของกองทุนหมู่บ้านฯ ผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.006% มูลค่า 102 ล้านบาท

มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อยในโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธ.ก.ส. จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.017% มูลค่า 2.89 พันล้านบาท โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ของธ.ก.ส.
จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.058% มูลค่า 9.86 พันล้านบาท โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีปีการผลิต 2562/2563 จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.069% มูลค่า 1.17 หมื่นล้านบาท มาตรการการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อป ใช้” จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.154-0.156% มูลค่า 2.61-2.65 หมื่นล้านบาท 

การยกเว้นการตรวจลงตรา(Visa) เพื่อการท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.062% มูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาท การเติมเงินผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.025 มูลค่า 4.25 พันล้านบาท โครงการคํ้าประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.095% มูลค่า 1.61 หมื่นล้านบาท

แนะรัฐทุ่มก๊อก2  เร่งเอกชนลงทุน

อย่างไรก็ตามในการเสนอผลที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว เป็นการใช้สมมติฐานจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 2.7% ภายใต้กรอบ 2.9-3.0% ก่อนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์จะแถลงตัวเลขจีดีพีที่ 2.3% ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% และยังเป็นการขยายตัวตํ่าในรอบ 19 ไตรมาส นับจากไตรมาส 4/2557 


 

รัฐมีเวลาเติมมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดตํ่าสุดของจีดีพี น่าจะผ่านไปแล้วในไตรมาส 2 ปีนี้ที่เติบโต 2.3% ส่วนครึ่งปีหลังมองว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้ 3.0% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.6% และหากไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายเช่น เศรษฐกิจโลกถดถอย เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะเพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตในกรอบล่าง 2.7% ได้ แต่กรอบบนที่ 3.2% ยังท้าทาย อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐใช้เป็นการกระตุ้นระยะสั้น ทำให้สามารถติดตามผลของมาตรการได้เป็นระยะ เช่นเดือนสิงหาคม-กันยายน หากไม่ได้ผลเชื่อว่า รัฐบาลยังมีเวลาในการชั่งนํ้าหนักและเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

“ปัจจุบันกสิกรไทย ยังคาดการณ์จีดีพีทั้งปีที่ 2.9-3.1% โดยรอดูตัวเลขส่งออกเดือนกรกฏาคมและดูตัวเลขท่องเที่ยวก่อนจะทบทวนคาดการณ์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่อยากเห็นรัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เน้นการลงทุนระยะยาวไม่ใช่แจกแถมแบบเดิมๆ โดยเฉพาะเมืองไทยที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำไมไม่ใช้ทรัพยากรที่มีมาก่อสร้างแหล่งนํ้า หรือชาวบ้านที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย ก็สามารถใช้งบประมาณในการลงทุนก่อสร้างบ้านหรือปรับพื้นที่สลัมเป็นเมืองที่น่าอยู่และสร้างการเติบโตในพื้นที่แทน

“การช่วยเหลือเกษตรกรหรือสวัสดิการนั้น อาจเป็นมาตรการประคองเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รัฐบาลยังต้องรอดูผลด้านการท่องเที่ยวว่า แจกเงินไปแล้วจะได้ผลหรือไม่ หากมาตรการแรกมีความซับซ้อนหรือไม่จูงใจพอ  รัฐบาลสามารถเตรียมมาตรการก๊อก 2 สำหรับกระตุ้นการลงทุนภายใน เพราะบรรยากาศการค้าโลกยังไม่ดีต่อเนื่องตามสงครามทางการค้าที่คาดว่า จะลากยาวไปถึงเลิือกตั้งในสหรัฐฯปีหน้า”

ทั้งนี้ระหว่างทางรัฐยังเก็บตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดเผยข้อมูลไตรมาส 3 เบื้องต้นในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ และปลายเดือนตุลาคมจะเห็นข้อมูลไตรมาส 3 ชัดเจนขึ้น ก่อนจะปรับใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม ประกอบกับธปท.สามารถเก็บกระสุนไว้ โดยรอดูเสถียรภาพตลาดเงินเริ่มนิ่ง จึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมของปีนี้ เพราะแนวโน้มยังมีความท้าทายเพิ่มเติม 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

แนะรัฐทุ่มก๊อก2  เร่งเอกชนลงทุน