"สุเมธ" แจงยิบการบินไทย ไม่ล้มละลาย

21 ส.ค. 2562 | 06:52 น.

         นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่ากรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าการบินไทยอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลายนั้น ผมยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลายแต่อย่างใด ปัจจุบันบริษัทฯ มีสถานะการเงิน โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินลดลง คือ หนี้สินระยะยาวลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท และหนี้สินรวมของบริษัทฯไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 จำนวน 248,264 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 จำนวน 245,447 ล้านบาท

  "สุเมธ" แจงยิบการบินไทย  ไม่ล้มละลาย

นายสุเมธ ยังกล่าวต่อว่า การบินไทยมีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท จัดว่าน้อยกว่าสายการบินชั้นนำ ในระดับเดียวกันมาก อาทิ เจแปนแอร์ไลน์มีทุนจดทะเบียน 52,443 ล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีทุนจดทะเบียน 92,187 ล้านบาท และคาเธ่ย์แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 68,032 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเทียบความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียนของการบินไทยที่มีน้อยกว่า การบินไทยสามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ 12 เท่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทฯ ต้องใช้เครื่องมือ “เงินกู้” ในการขยายงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการดำเนินงานของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ 
 
 

"ผมขอยืนยันว่าการบินไทยยังไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ มี TRIS Credit Rating = A Stable Outlookจึงมีความสามารถในการชำระหนี้ และ Roll Over ได้ ซึ่งใช้วิธี Roll Over หุ้นกู้และ มีเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งเป็นเทคนิคของการบริหารจัดการทางการเงิน"

สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ รัฐบาลยังไม่อนุมัติในการจัดหา บริษัทฯ จึงยังไม่มี ความจำเป็นต้องกู้เงิน 156,000 ล้านบาท หากอนุมัติบริษัทฯ ยังต้องวางแผนในการจัดหาก่อน การจัดหาเงินจะเป็นในส่วนของเงินมัดจำเท่านั้น ดีดีการบินไทยกล่าว และระบุว่า

 

เนื่องจากเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะมีการส่งมอบเครื่องบินใหม่คือ ปี 2563-2565 และบริษัทฯ ขอยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว มีความจำเป็น
ในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการบินไทยไม่ได้มีข้อตกลงไว้ก่อนกับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายใดๆ ทั้งสิ้น การดำเนินการจัดหาเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส 
 ส่วนเงินทุนในการจัดหาเครื่องบินที่ต้องใช้ในภาคหน้าบริษัทฯ จะดูตามความเหมาะสมกับสถานะการเงินของบริษัทฯ ในขณะนั้น หากมีสถานะการเงินที่ไม่ควรซื้ออาจจะใช้วิธี เช่าซื้อ เช่าดำเนินการ ซึ่งเปรียบเสมือนการแบ่งจ่าย ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการแบ่งจ่ายประมาณ 12 ปี

  "สุเมธ" แจงยิบการบินไทย  ไม่ล้มละลาย


ดังนั้นการได้มาซึ่งเครื่องบินจึงไม่เป็นภาระต่อสถานะการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเครื่องบินที่อยู่ในฝูงบิน จำนวน 103 ลำ ณ ปัจจุบัน และถ้าไม่ปลดระวางจะมีความจำเป็นต้องซ่อมใหญ่ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูงมาก และไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ซื้อเครื่องบินใหม่

  "สุเมธ" แจงยิบการบินไทย  ไม่ล้มละลาย

นายสุเมธ ยังกล่าวอีกว่า การดำเนินงานของบริษัทที่ขาดทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจัยภายนอกตลอดครึ่งปีแรกของปี 2562 มีผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจของการบินไทย อย่างสูง  ส่งผลให้รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย อาทิ ปริมาณการผลิต (ASK) ลดลง 4% รายได้ลดลง 2,592 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของทางผู้ผลิต ทำให้ปริมาณการผลิตและจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลูกค้าลดลง อัตราแลกเปลี่ยน (FX) 3.6% รายได้ลดลง 2,333 ล้านบาท

  "สุเมธ" แจงยิบการบินไทย  ไม่ล้มละลาย

รวมถึงการปิดน่านฟ้าปากีสถานกระทบรายได้ 0.2% ทำให้รายได้ลดลง 153 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 1.2% รายได้ลดลง 795 ล้านบาท สาเหตุหลักจากเงินบาทแข็ง ขณะที่เงินบาทแข็งค่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เศรษฐกิจโลกซบเซา ยังส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อของลูกค้าลดลง

แต่การแข็งค่าของเงินบาท ก็มีข้อดีตรงที่ ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ที่จัดการไม่ได้ (Un-Management) แต่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้อยู่ในงบประมาณได้ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่าเครื่องบิน ประกอบกับการบินไทยยังมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐซึ่งเป็นผลดีจากเงินบาทแข็ง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง จึงทำให้ต้นทุนลดลงได้บางส่วน

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการได้ร่วมกันบูรณาการกระบวนการทำงาน โดยฝ่ายจัดการอยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถที่จะแข่งขันในอุตสาหกรรมได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการ เรื่อง Digital Transformation โดยเฉพาะการปรับปรุง Mobile Application เป็นต้น