หลากปัจจัยชี้เศรษฐกิจมะกัน ‘ถดถอย’ ภายใน 2 ปี

24 ส.ค. 2562 | 03:30 น.

 

ม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจะออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังแข็งแกร่งและห่างไกลการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession อย่างที่หลายๆ ประเทศกำลังสุ่มเสี่ยงอยู่นั้น แต่เหตุใดในการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากกว่า 200 คน จัดทำโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติ (National Association for Business Economics หรือ NABE) กลับพบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปี 2564 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงแนวโน้มความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่น่าจะลอยลำเหนือปัญหาปริมาณการค้าหดตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯกำลังเปิดศึกอยู่กับจีน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราน้อยลง โดยหลายๆ ประเทศไม่เพียงเผชิญตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตน้อยลงหรือไม่โตเลย แต่กลับจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี บราซิล และเม็กซิโก ที่รายงานของ สำนักวิจัย แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า เป็น 5 ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก ที่กำลังยืนอยู่บนปากเหวของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ผลการสำรวจของ NABE ที่เก็บข้อมูลจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 226 คนระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2562 ชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้นและอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด

 

เรย์ ดาลิโอ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ บริดจ์วอเทอร์ แอสโซชิเอทส์ เป็นหนึ่งในผู้ตอบแบบสอบถามการสำรวจที่เชื่อว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2020 (พ.ศ. 2563) นั้นมีมากถึง 40% ในตอนนี้ เป็นความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ว่าโอกาสมีเพียง 35%

 

ความไม่แน่นอนบั่นทอนความเชื่อมั่น

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มองว่า ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มากเมื่อพูดถึงการเจรจาสงบศึกการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเหมือนกับมีข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้ามา 1 ก้าว ก็มักจะมีข่าวร้ายตามมาให้ต้องถอยหลังไป 2-3 ก้าวโดยตลอด ประกอบกับแนวโน้มเชิงลบของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายอื่นๆของโลก โดยเฉพาะจีนและเยอรมนี ทำให้เชื่อว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่คาดว่าจะออกมาในเชิงลบด้วยเช่นกัน แม้แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังออกมายอมรับว่า การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะส่งผลต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน และเพราะเหตุนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯจึงประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 'บางรายการ' เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป และของเล่น ฯลฯ ที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะขึ้นภาษี 10% ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ก็เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2562 นอกจาก นี้ ยังมีการยกเลิกแผนขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการไปเลยด้วย เป้าหมายก็เพื่อช่วยผู้บริโภคไม่ให้ต้องแบกภาระการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลช็อปปิ้ง ปลายปี ทั้งนี้ จากการประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ พบว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่วางแผนไว้ทั้งหมด จะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกัน มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้า เฉลี่ยครัวเรือนละ 650 ดอลลาร์ หรือกว่า 20,150 บาท

หลากปัจจัยชี้เศรษฐกิจมะกัน  ‘ถดถอย’ ภายใน 2 ปี

ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐฯ สัญญาณลบที่เกิดขึ้นแล้วคือการชะลอการตัดสินใจลงทุนใหม่ของบางบริษัท นอกจากนี้ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังแผ่วลง อีกทั้งการจ้างงานใหม่ (ในภาคอุตสาหกรรม) ก็ยังลดลงด้วย นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่าภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งก็จะเป็นภาระที่บริษัทผู้นำเข้าของสหรัฐฯและบริษัทผู้ขายจากฝั่งจีนจะช่วยกันเฉลี่ยความรับผิดชอบ เขาเชื่อว่าราคาสินค้าที่สูงขึ้นจะมาถึงผู้บริโภคเพียงเล็กน้อย เท่านั้น “อาจจะมีเงินเฟ้อเล็กน้อยมากในส่วนของผู้บริโภค” รอสส์ยังเชื่อว่า เป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ แต่ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับสัญญาณจากตลาดพันธบัตรสหรัฐฯที่เพิ่งเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ภาวะเช่นนี้มักเกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวค่อนข้างแม่นเพราะเหตุการณ์มักเป็นจริงเช่นนั้นนับตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา ความคลาดเคลื่อนน้อยมาก แต่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ยังยืนยันว่า สัญญาณจากตลาดพันธบัตรนั้นเชื่อถือไม่ได้ และไม่ใช่เครื่องชี้วัดบ่งบอกภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริง

 

ปีนี้-ปีหน้า ยังมีเวลาหายใจ

ไมเคิล สกอร์เดอเลส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาคสหรัฐฯ บริษัท ซัน ทรัสต์ ไพรเวท เวลธ์ แมเนจเมนท์ฯ ให้ความเห็นไปในทิศทางบวกเช่นกัน โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังฟื้นตัว และวงจรการฟื้นตัวในครั้งนี้ก็อาจยืดระยะเวลาออกไปได้ยาวนานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หากว่ารัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีน เขาเชื่อว่าแม้เพียงการสงบศึกการค้ากันชั่วคราวในระยะสั้นๆ ก็จะส่งผลเชิงบวกทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น และกล้าที่จะตัดสินใจลงทุนซื้ออุปกรณ์หรือปรับปรุงกิจการ และจะช่วยให้สหรัฐฯสามารถประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่ระดับประมาณ 2% ไปได้เรื่อยๆจนถึงปีหน้า

 

ผลการสำรวจสะท้อนว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะเกิดขึ้นแน่ แต่ประเด็นคือจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ 10% เชื่อว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเกิดขึ้นในปีนี้ (2562) แต่การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ผู้ที่คิดว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในปีนี้ได้ลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยในปี 2564 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ได้เพิ่มขึ้นเป็น 34% ซึ่งสูงกว่าผลการสำรวจครั้งก่อน (25%)

 

มีเพียงประมาณ 4 ใน 10 เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในปีหน้า (2563) ซึ่งไม่แตกต่างจากผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์มากนัก “เราเชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลงอย่างแน่นอน” ไบรอัน โรส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของยูบีเอ โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนท์ ฟันธง พร้อมระบุว่า อุปสงค์ภายในประเทศและความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐฯเป็นสิ่งที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะ 70% ของการเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯมาจากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเป็นหลัก ฉะนั้น ตราบใดที่ประชาชนยังมีความมั่นใจและออกมาจับจ่ายใช้สอย สหรัฐฯก็ยังจะสามารถฝ่าคลื่นลมผลกระทบจากสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปได้ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3498 ระหว่างวันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2562