จีนปฏิวัติกฎนำเข้าใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?

21 ส.ค. 2562 | 02:19 น.

จีนปฏิวัติกฎนำเข้าใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?

ประเทศจีนได้ออกระเบียบและกติกาการนำเข้าและที่เกี่ยวข้องใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่เข้าไปขายในประเทศจีน ซึ่งทำไปพร้อม ๆ กับการรื้อโครงสร้างเก่าสู่ระบบการทำงานใหม่

 

ก่อนปี 2561 การส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่จีนต้องผ่านหน่วยงานที่เรียกว่า “สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค (AQSIQ)” ที่ตั้งเมื่อปี 2544 หลังจากวันที่ 18 มีนาคม 2561 AQSIQ ไม่มีอีกแล้ว ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนของจีนเอง รวมถึงการตรวจเข้มสินค้านำเข้ามากขึ้น และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Single Command)

 

หน่วยงานใหม่นี้ชื่อว่า “กระทรวงศุลกากรจีน" (General Administration of Customs of China : GACC) GACC จะทำงานประสานกับ 3 หน่วยงานหลักคือ 1.คณะกรรมการสาธารณสุข ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเชื้อโรคสัตว์และพืชที่นำเข้ามาในประเทศจีน 2.องค์กรบริหารจัดการระเบียบการตลาด (State Administration of Market Regulation : SAMR)  กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้า GMO และ 3. กระทรวงเกษตรและชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Affairs :MARA) ร่วมกันร่างกฎหมายและกติกาที่เกี่ยวกับการนำเข้า พืชและสัตว์ รวมทั้งลงนาม MOU หรือ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ในการส่งพืชและสัตว์เข้าประเทศจีน

 

สินค้าที่ GACC เล็งไว้ว่าจะตรวจสินค้าผลไม้ไทยเข้มขึ้นมาก เริ่มจาก 5 สินค้าคือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย และลิ้นจี่ (มะพร้าวน้ำหอม กำลังถูกจับตามอง เช่นกัน) นอกจากจะประสานมือกับ 3 หน่วยงานข้างต้นแล้ว GACC ยังมีหน้าที่หลัก ๆ คือ 1.เข้าไปจัดระเบียบการนำเข้า 2.ตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า สัตว์และพืช ร่วมกับกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท 3.กำกับและตรวจสอบสินค้านำเข่าทุกด่านทั้งทางบก น้ำ และอากาศ 4.ออกกฎหมายและกติกาการนำเข้าใหม่ในแต่ละกลุ่มสินค้านำเข้า 5.จัดเก็บภาษีนำเข้า 6.เก็บข้อมูลสถิติการส่งออกนำเข้า 7.ประสานและทำงานกับหน่วยงานนำเข้าทั้งหมดของจีน 8.ตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าที่เป็นอันตรายต่อประเทศจีน

จีนปฏิวัติกฎนำเข้าใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?

 

จีนปฏิวัติกฎนำเข้าใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?

ส่วนวันที่ 1 ม.ค. 2562 จีนออก “กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (China E-Commerce Law : ECL)” ฉบับแรก (ใช้เวลาร่างกฎหมายนี้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558) เพื่อจัดระเบียบการค้าออนไลน์ ที่ควบคุมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่มคือ 1.เจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform Operator) ได้แก่ Taobao ของ Alibaba และ JD.Com  เป็นต้น  2. ผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม (Operator on Platform)  3.ผู้มีเว็บไซต์และโซเซียลมีเดียเป็นของตนเอง เช่น Wechat เป็นต้น และ 4.การค้าแบบ “CBEC” (ให้สิทธิวงเงินคนจีนซื้อเพิ่มจากเดิม 20,000 หยวนต่อคนต่อปี เป็น 26,000 หยวนต่อคนต่อปี)

 

กฎหมายดังกล่าว ออกมาเพื่อแก้ปัญหา 3 เรื่องคือ 1.สินค้าปลอมและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ตามรายงานของ The Frontier Report, International Trademark Association สินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 ทำให้คนตกงาน 5.4 ล้านคน กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งร้อยละ 50 มาจากประเทศจีน) 2.ยกระดับสินค้าที่เอาไปขายบนออนไลน์ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเท่านั้น และ3.คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ต้องการให้ถูกหลอกและเอาเปรียบ ซึ่งตาม ECL ได้กำหนดค่าปรับสำหรับคน 4 กลุ่มข้างต้นที่ทำไม่ถูกต้อง ค่อนข้างสูงมากอยู่ที่ 2 ล้านหยวน หรือ 10 ล้านบาท

 

ผมคิดว่า ECL จะเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำสินค้าไปขายบนออนไลน์ของจีน การมี ECL จะทำให้รัฐบาลจีนเก็บภาษีได้มากขึ้นจาก “การเปลี่ยนแปลงภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลต่อสินค้านำเข้า” แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมี FTA กับต่างประเทศ 17 ฉบับ (13 ฉบับกำลังเจรจาและ อีก 10 ฉบับอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ทำ FTA กับจีน ภาษีนำเข้าจะเป็นศูนย์ ประเทศไทยและอาเซียนอยู่ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

จีนปฏิวัติกฎนำเข้าใหม่ ไทยพร้อมรับมือหรือยัง?

ส่วนที่อยู่นอกกรอบ FTA รัฐบาลจีนปรับลดภาษีนำเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค 2561 รัฐบาลจีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับผู้บริโภคเฉลี่ยลดลงจาก 15.7% เหลือเฉลี่ย 6.7% หรือลดลง 55.9% สินค้าอุปโภค (เสื้อผ้า และ รองเท้า เป็นต้น) ภาษีนำเข้าลดลงจาก 15.9% เหลือ 7.1% และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงจาก 15.2% เหลือ 6.9% ยาและเครื่องสำอางลดลงจาก 8.9% เหลือ 2.9%

 

ฉะนั้นสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มี FTA กับจีนภาษีนำเข้าจะต่ำกว่า 10% และเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2562 กระทรวงการคลัง หน่วยงานบริหารภาษี (State Taxation Administration) และ GACC ได้ปรับปรุงลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าจาก 16% เหลือ 13% 10% 9% และ 6% ตามประเภทของสินค้านั้น ๆ กติกาข้างต้นผู้ส่งออกไทยต้องทำการศึกษารายละเอียดให้ดี รวมถึงขั้นตอนในการส่งออก ภายใต้เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง จีนจะตรวจสินค้าเข้าเข้มงวดมากขึ้นครับ