"เอกชน" โวยแบงก์เมินช่วยสินค้าเกษตร

20 ส.ค. 2562 | 14:54 น.

"โรงสี-โรงสกัด" ประสานเสียงไม่ได้อานิสงส์ประกันรายได้ โวยแบงก์ยังแช่แข็งปล่อยสินเชื่อ ยันเป็นโครงการชดเชยรายได้เกษตรกร การค้าขายปกติ แต่เกษตรกรมีการประกันความเสี่ยงราคา หากราคาต่ำ รัฐชดเชยจ่ายตรงผ่าน ธ.ก.ส.

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 กำหนดนโยบายเร่งด่วนเรื่องที่ 4 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม กำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ด้วยการชดเชยการประกันรายได้ ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตรหรือเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางวินัยการเงินการคลังของภาครัฐในระยะยาว

 

"เอกชน" โวยแบงก์เมินช่วยสินค้าเกษตร

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ข้าวไม่น่าเกี่ยวกับที่สถาบันการเงินจะมีการอนุมัติสินเชื่อวงเงินแก่ผู้ประกอบค้าข้าวเพิ่ม เพราะนโยบายดังกล่าวเพื่อเกษตรกร ส่วนในการปล่อยสินเชื่อนั้น สถาบันการเงินจะมองในแง่ธุรกิจของบริษัทนั้นว่ามีภาพรวมธุรกิจ กำลังผลิต และมียอดขายอย่างไร และดูค่าเงินว่ามีทิศทางอย่างไรมากกว่า ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อเพิ่มของสถาบันการเงินไม่น่ามีผลกับการที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้

"เอกชน" โวยแบงก์เมินช่วยสินค้าเกษตร

สอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เป็นเรื่องของชาวนากับรัฐบาล ส่วนสภาพคล่องของโรงสีแต่ละโรงนั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร สินเชื่อแต่ละโรงก็ยังเข้มอยู่เหมือนเดิม

"เอกชน" โวยแบงก์เมินช่วยสินค้าเกษตร

ด้านนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา กรรมการผู้จัดการ บจก.ทักษิณปาล์มนํ้ามัน (2521) กล่าวทำนองเดียวกันว่า โรงสกัดน้ำมันปาล์มก็ซื้อขายปกติ เพียงแต่ว่าส่วนราคาที่ขาดไปรัฐบาลจะชดเชยในส่วนต่างราคาให้ไม่เกิน 25 ไร่ โดยจะจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกร 3 เดือนต่อครั้ง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ให้กับเกษตรกรโดยตรง ส่วนอานิสงส์จากสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นหรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกันเลย เป็นคนละเรื่องกัน