คลังไล่บี้ แชร์ลูกโซ่ ผวาซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน

24 ส.ค. 2562 | 04:00 น.

 

   

รมว.คลังสั่งสศค.ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ หวั่นซํ้าเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งต่อเนื่อง หลังพบกลุ่มเสี่ยงวัยทำงาน ก่อหนี้สูงขึ้นและเป็นหนี้เสียกว่าครึ่ง

 

การลงทุนที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และส่วนใหญ่มักไม่ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงตํ่า เพราะได้ผลตอบแทนตํ่าเช่นกัน คนกลุ่มหนึ่งจึงหันไปลงทุนในสิ่งที่จะได้ผลตอบแทนสูง แม้เสี่ยงที่จะขาดทุนสูงก็ตาม ไม่ว่าการลงทุนประเภทนั้นจะถูกกฎหมายหรือไม่

แชร์ลูกโซ่เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ยังพบเห็นคนเข้าไปลงทุนอยู่ตลอด แม้จะมีคดีดังๆให้เห็นเป็นบทเรียนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแชร์แม่ชม้อย แชร์ชาร์เตอร์ และแชร์ลูกโซ่แฝงมากับธุรกิจต่างๆ อย่างคดียู ฟัน หรือขายตรงต่างๆ ทำให้ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนเสียหายจากการเล่นแชร์ลูกโซ่แล้วรวมหลายแสนล้านบาท

แม้จะยังไม่ขยายวงไปยังประชาชนในวงกว้าง และการเล่นแชร์ลูกโซ่ของประชาชนจะยังไม่สูงจนน่ากังวล แต่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เตรียมสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลงทุนในแชร์ลูกโซ่ของประชาชนว่า จะต้องมีแนวทางในการดูแล ให้ความรู้ และป้องกันการเกิดแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยทั้ง กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)

 

คลังไล่บี้  แชร์ลูกโซ่  ผวาซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน

อุตตม สาวนายน

 

นายอุตตมกล่าวว่า ปัจจุบัน แม้ตัวเลขความเสียหายจากการเล่นแชร์ลูกโซ่ของประชาชนจะยังไม่สูงมากจนเป็นสัญญาณที่น่ากังวล แต่จากตัวเลขของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีความพร้อมในการเสาะแสวงหาการลงทุนที่หลากหลาย อาจทำให้แชร์ลูกโซ่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ประชาชนเลือกได้ ฉะนั้นจะต้องปิดช่องทางดังกล่าวลง

ก็จะให้สศค.ไปดูว่า มีวิธีอะไรบ้างที่จะป้องกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนประเภทนี้ ต้องทำแบบองค์รวม มีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมด้วย จะได้แก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะแม้ว่าตัวเลขคนเสียหายจากการเล่นแชร์ลูกโซ่จะอยู่ในวงเฉพาะกลุ่มคน แต่ก็ต้องป้องกันไว้นายอุตตมกล่าว

คลังไล่บี้  แชร์ลูกโซ่  ผวาซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้แม้จะค่อนข้างทรงตัว แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่ 77.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และข้อมูลจากบริษัท ข้อมูล เครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร)พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นาน ขึ้นและมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน โดยคนในช่วงอายุปลาย 20-30 ปีต้นๆ มีปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งตัวขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ ซึ่งสถิติพบว่า หนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 70,000 บาท สิ้นปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท สิ้นปี 2559

สะท้อนถึงความเปราะบางความมั่นคงในชีวิตและตามมาด้วยความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการสกัดช่องทางการเกิดหนี้เสียของคนไทยแต่เนิ่นๆ น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนลดลงหรือไม่ทำให้เพิ่มขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

นายพรชัย ฐีระเวช รองโฆษก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีของแชร์ลูกโซ่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งตำรวจเศรษฐกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงยุติธรรม หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ว่า มีประชาชนได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาคดีเหล่านี้ ถูกแจ้งความไว้ในหลากหลายหน่วยงาน จึงไม่มีหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูล แต่จากนี้ไปจะเก็บข้อมูลให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจน ก่อนจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยสศค.มีพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน .. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ..2534 และ ..2545 ควบคุมดูแลอยู่  จึงจะนำกฎหมายที่มีอยู่มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขด้วย

แชร์ลูกโซ่ไม่จัดอยู่ในหนี้นอกระบบ แต่เป็นการลงทุนที่เป็นรูปแบบกู้ยืมเพื่อฉ้อโกงประชาชน ซึ่งยังหาความเสียหายรวมได้ยาก เพราะผู้เสียหายแต่ละกลุ่ม ไปแจ้งเอาผิดกับหน่วยงานที่แตกต่างกันไป แต่หลังจากนี้ เราจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ว่า มีมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ต่อไปนายพรชัยกล่าว

สำหรับสถิติการจับกุมผู้กระทำผิดเรื่องหนี้นอกระบบ โดยจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้ โดยวิธีการผิดกฎหมาย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - พฤษภาคม 2562 มีทั้งสิ้น 5,050 ราย ขณะที่สถิติการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงการคลัง ล่าสุด มียอดอนุมัติสินเชื่อสะสม 84,022 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,160.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อเฉลี่ย 25,717 บาทต่อบัญชี และสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 574,760 ราย เป็นเงิน 25,867.87 ล้านบาท

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562

คลังไล่บี้  แชร์ลูกโซ่  ผวาซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน