เปิดไทม์ไลน์เมกะโปรเจ็กต์ อีอีซีดีล่าช้าลงนามเอกชนปีหน้า

21 ส.ค. 2562 | 04:20 น.

 

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 6 โครงการ ให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งหากพิจารณาตามระยะเวลาการดำเนินงานถือว่ามีความล่าช้าจากที่กำหนดไว้มาก

 

ไฮสปีดเทรน-มาบตาพุดคืบ

ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า ขณะที่มีโครงการที่ได้ดำเนินการคัดเลือกลงทุนกับเอกชนแล้วเสร็จมี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม บิน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย
(รฟท.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนส่งมอบที่ดินให้เอกชนก่อนลงนามในสัญญา ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคม 2562 ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของ กพอ. ก่อนลงนามในสัญญา ที่คาดว่าจะกิดขึ้นได้ในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน

ขณะที่โครงการที่เหลือเช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ที่คาดว่าจะประเมินแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนที่จะอนุมัติการคัดเลือกให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือเอ็มอาร์โอ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัสฯ เพิ่งรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 และจะประกาศเชิญชวนลงทุนฉบับแก้ไขได้ในเดือนกันยายน 2562 โดย ยังไม่กำหนดระยะเวลาว่าจะอนุมัติการคัดเลือกแล้วเสร็จเมื่อใด

 

เปิดไทม์ไลน์เมกะโปรเจ็กต์  อีอีซีดีล่าช้าลงนามเอกชนปีหน้า


 

 

อู่ตะเภาได้เอกชนก.ย.62

รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ตามขั้นตอนทางกฎหมายของผู้เข้าร่วมประมูลบางราย แต่มีการดำเนินงานควบคู่การพิจารณาเอกชนที่ยื่นประมูลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คาดจะประเมินซองเอกสารแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ และจะอนุมัติผลการคัดเลือกได้ในเดือนกันยายน 2562

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Eastern Economic Corridor of Digital (EECd) มีหน่วยงานเจ้าของโครงการคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินงานที่ล่าช้ามากที่สุดหลังจากได้เปิดให้ยื่นซองประมูลไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้ายื่นข้อเสนอ หลังจากที่ได้พบปะพูดคุยกับเอกชนบาง ส่วนจากการทำ Market Sounding หรือรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ทางเอกชนมองว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน TOR ในรอบแรกค่อนข้างเคร่งครัด เช่น ประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ยืดหยุ่น การห้ามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญามาตรฐาน หรือห้ามเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นใดนอกเหนือจากที่ระบุใน TOR รวมถึงความไม่มั่นใจทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง

 

อีอีซีดีลากยาวถึงปีหน้า

ล่าสุดของโครงการดังกล่าว อยู่ในช่วงการรวบรวมข้อคิดเห็นจากเอกชนและนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดให้เปิดกว้าง และมีความน่าสนใจมากขึ้น ก่อนการประกาศขายซองอีกครั้ง ที่คาดว่าจะดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2562 นี้ โดยมีกำหนดระยะเวลาจัดเตรียมข้อเสนอประมาณ 3 เดือนครึ่ง คาดว่ากระบวนการคัดเลือกเอกชน การเจรจาต่อรองเงื่อนไขสัญญา รวมถึงการลงนามว่าจ้างเอกชนจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2563

ทั้งนี้ อีอีซีดี เป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านดิจิทัลที่สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาพื้นที่ของโครงการ ให้เป็นศูนย์กลางการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาห-กรรมอื่นๆ ของประเทศไทย และเพื่อพัฒนาเมืองดิจิทัลตัวอย่างของประเทศไทยภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งภายในพื้นที่โครงการ และพื้นที่โดยรอบของโครงการ

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3497 วันที่ 18-21 สิงหาคม 2562

เปิดไทม์ไลน์เมกะโปรเจ็กต์  อีอีซีดีล่าช้าลงนามเอกชนปีหน้า