หนุนเด็กไทยเรียน‘โค้ดดิ้ง’ รับเทรนด์ดิจิทัลโลก

17 ส.ค. 2562 | 07:40 น.

แนะเตรียมพร้อมเด็กไทยก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 “ศธ.” ยกญี่ปุ่นต้นแบบพัฒนาหลักสูตรโค้ดดิ้ง เสริมทักษะการใช้ชีวิตให้เป็นระบบ มีเหตุ มีผล ดีเดย์นำร่องพฤศจิกายนนี้

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีประสิทธิผล กระทรวงพร้อมผลักดันและพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์หรือโค้ดดิ้ง (Coding) ทักษะภาษาใหม่ที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต ทำให้เข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และหุ่นยนต์ สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะเท่าทันโลกยุคดิจิทัล

โดยภาษาโค้ดดิ้งจะเป็นทักษะใหม่ในยุคนี้และเด็กสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยในระดับชั้น ป.1-3 จะเป็นการเรียนการสอนที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เรียกว่า Unplugged Coding และถ้ามีพื้นฐานอย่างมีระบบ ต่อไปก็สามารถสื่อสารกับเครื่องในการเรียนได้

หนุนเด็กไทยเรียน‘โค้ดดิ้ง’ รับเทรนด์ดิจิทัลโลก

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

“โลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหนหรือสาขาอาชีพใด และทุกๆอย่างในชีวิต หรือเทคโนโลยีรอบตัวล้วนแล้วสัมพันธ์กับการโค้ดดิ้ง ทั้งนี้จะเห็นว่าในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับโค้ดดิ้ง โดยประกาศให้เป็นนโยบายสำคัญของชาติ พร้อมกำหนดให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาต้องเรียนภาษาโค้ดดิ้ง รวมถึงประเทศจีนด้วย”

หนุนเด็กไทยเรียน‘โค้ดดิ้ง’ รับเทรนด์ดิจิทัลโลก

ทั้งนี้กระทรวงจะเริ่มนำร่องสอนภาษาโค้ดดิ้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการอบรมครูในการนำสอนโค้ดดิ้งจำนวน 1,000 คนในเดือนตุลาคมนี้ และทำการเรียนการสอนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งในเรื่องอุปกรณ์ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่สามารถอบรมให้กับครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สมัครใจและมีความพร้อมจะเรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งได้”

หนุนเด็กไทยเรียน‘โค้ดดิ้ง’ รับเทรนด์ดิจิทัลโลก

อย่างไรก็ดีโค้ดดิ้ง ถือเป็น การวางรากฐานให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตรอบด้าน ทั้งในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ (C-Creative Thinking) การรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ ระเบียบ มีตรรกะ (O-Organized Thinking) ความสามารถในการเข้าใจภาษาดิจิทัล (D-Digital Literacy) เพื่อให้เข้าใจ และเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสามารถนำไปปรับ ใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ จนเกิดเป็นนวัตกรรม (I-Innovation) การคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ (N-Newness) พร้อมกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือโลกาภิวัตน์ (G-Globalization) ที่กำลังก้าวสู่ยุคศตวรรษที่ 21 รวมถึงพร้อมรับ มือผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยน แปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) ด้วย 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3497 ระหว่างวันที่ 18 - 21 สิงหาคม 2562