สหรัฐฯ ชะลอปรับขึ้นภาษี พาณิชย์เร่งสปีดส่งออกสินค้าศักยภาพ

15 ส.ค. 2562 | 09:28 น.

พาณิชย์ชี้ สหรัฐฯ ชะลอปรับขึ้นภาษี ส่งผลดีต่อสินค้าไทย เร่งสปีดส่งออกสินค้ามีศักยภาพ  คาดมีการเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย. 62 พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้าจีน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ว่า สหรัฐฯ ได้ชะลอการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้บางส่วนออกไป โดยแบ่งเป็น 2 ระลอก คือ รอบแรกการขึ้นภาษีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 (มีประมาณ 3,000 กว่ารายการ เช่น อาหาร ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ถั่ว เนย เครื่องเทศ เครื่องดื่ม ยาสูบ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับ และของเล่น ตลอดจนมีสินค้าอื่นๆ เช่น แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ เหล็ก อลูมิเนียม และมอเตอร์ไซค์) และ รอบ 2 จะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ประมาณ 500 รายการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็บท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าการปรับแผนขึ้นภาษีครั้งนี้ เป็นไปตามการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) ระบุว่าจะยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าที่เกี่ยวกับ สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ 

สหรัฐฯ ชะลอปรับขึ้นภาษี  พาณิชย์เร่งสปีดส่งออกสินค้าศักยภาพ

ทั้งนี้สนค. ประเมินว่า การชะลอการขึ้นภาษีครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯ และจีนอาจหันหน้าเข้ามาเจรจากันอีกครั้ง โดยมีกำหนดการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งหน้าในเดือนกันยายนนี้ และไทยยังมีโอกาสผลักดันสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ได้ เพื่อทดแทนสินค้าจีนในกลุ่มสินค้า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูป อาหาร (เครื่องปรุงอาหาร และเครื่องดื่ม) เครื่องแต่งกาย และของใช้ในบ้าน อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาและการขึ้นภาษีที่จะมีผลในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมการค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ควรต้องมีมาตรการรุกตลาดสหรัฐฯ และตลาดต่าง ๆ โดยเร็ว เพื่อแข่งกับประเทศอื่นที่คงจะหวังรุกตลาดสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน แต่สินค้าไทยยังมีจุดแข็งในด้านคุณภาพที่ดี เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งต้องเร่งเสริมความเชื่อมั่นตรงนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ. พาณิชย์) ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานสงครามการค้า (War Room) โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่ได้รับผลกระทบระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยจะร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในระยะ 6 เดือน และรายงานความคืบหน้าต่อ กรอ. เป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ War Room จะนำเรื่องกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการส่งออกมาพิจารณาเพื่อปลดล็อกโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือการทำธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ การเจรจาด่านที่ยังค้างท่อ (ด่านแม่สอด ด่านสะเดา2) การเปิดด่านถาวร และการขยายเวลาเปิดด่าน ซึ่งจะได้หยิบยกขึ้นในการเจรจาการค้าชายแดนเร็ว ๆ นี้ ด้วย

“ที่ประชุมได้กำหนดกรอบตลาดศักยภาพ เพื่อเร่งการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี อาทิ อินเดีย (กลุ่มตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง สนับสนุนควบคู่กับภาคบริการ) จีน (รุกรายมณฑล แต่ละมณฑลลงรายสินค้า) อาเซียน และตะวันออกกลางศักยภาพใหม่ (โอมาน บาห์เรน กาตาร์) ซึ่งได้มอบหมาย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กำหนดแนวทางการส่งออกรายสินค้าในแต่ละตลาด พร้อมกิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ”