กริ่งเตือนเศรษฐกิจถดถอยดังลั่น! ตลาดหุ้นโลกระส่ำ

15 ส.ค. 2562 | 08:23 น.

สัญญาณเตือนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยดังมากขึ้นทุกที หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 สะท้อนถึงสภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้นักลงทุนพากันหวั่นวิตกและหันเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือพันธบัตร

 

ในอดีตที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve ที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นขยับขึ้นสู่ระดับสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวนั้น มักเกิดขึ้นก่อนที่เศรษฐกิจจะเป็นขาลง หรือเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากปกติแล้ว พันธบัตรระยะยาวมักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ดังนั้นในยามที่นักลงทุนเห็นว่าเศรษฐกิจปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรขาขึ้น หรือคาดการณ์ว่าในระยะต่อจากนี้ธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเรื่อยๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พวกเขาก็จะแห่กันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว แต่การเน้นลงทุนแบบนี้จะกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลง จนในที่สุดผลตอบแทนจะลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นได้ ทำให้เกิดภาวะ  inverted yield curve ขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นสัญญาณเตือนจากมุมมองของนักลงทุนว่า เศรษฐกิจอาจหดตัวได้ในอนาคต ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจถดถอยอาจจะเกิดขึ้น 18 หรือ 22 เดือนหลังจากที่เกิดภาวะ  inverted yield curve  ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วคือในช่วงทศวรรษ 1980  อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า เกิดจากทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จึงส่งผลให้ความต้องการล๊อคผลตอบแทนในระยะยาวลดลง

กริ่งเตือนเศรษฐกิจถดถอยดังลั่น! ตลาดหุ้นโลกระส่ำ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีดีดตัวสู่ระดับ 1.630% ซึ่งเหนือกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ที่อยู่ในระดับ 1.623%  ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 30 ปี ก็ทำสถิติดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในวันเดียวกันนั้น ใกล้หลุดระดับ 2% คือดิ่งลงมาอยู่ที่ 2.015% ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาปิดที่ 2.034%  รายงานข่าวระบุว่า ในอดีตก่อนหน้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 30 ปี เคยร่วงลงสู่ระดับ 2.0889% มาแล้วหลังจากที่อังกฤษทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)ในเดือนมิ.ย.2559 

 

ดัชนีหุ้นหลักๆร่วงทั่วโลก

 สำหรับความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นโลกในวันเดียวกันนั้น ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดดิ่งลง 800.49 จุด หรือลดลง 3.05% ปิดที่ 25,479.42  จุด ซึ่งนับว่าร่วงหนักมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ขณะที่ดัชนี S&P500 ลดลง 85.72 จุด หรือลง 2.93% ปิดที่ 2,840.60  จุด และดัชนีแนสแดค ร่วง 242.42 จุด หรือลดลง 3.02% ปิดที่ 7,773.94  จุด

 

สัญญาณเศรษฐกิจเชิงลบประกอบกับการประเมินสถานการณ์ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะมุ่งหน้าเข้าสู่กระแสดอกเบี้ย ‘ขาลง’ เพื่อรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐฯ ดิ่งลงหนัก โดยหุ้นธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ดิ่งลง 4.3% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ดิ่งลง 4.15% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ทรุดลง 5.3% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 4.7% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 4.2%

กริ่งเตือนเศรษฐกิจถดถอยดังลั่น! ตลาดหุ้นโลกระส่ำ

ถัดจากตลาดหุ้นสหรัฐฯกระแสความปั่นป่วนก็กระจายวงออกไปทั่วโลก  โดยหุ้นฝั่งยุโรปปิดตลาดตามในแดนลบ  ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.68% ปิดที่ 366.16 จุด ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,251.30 จุด ร่วง 111.76 จุด หรือ -2.08% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,492.66 จุด ร่วงลง 257.47 จุด หรือ -2.19% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,147.88 จุด ลดลง 103.02 จุด หรือ -1.42% โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังหดตัวลง  เช่นเดียวกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนที่ปรับลดลง  คลื่นการเทขายยังระบาดมาถึงตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ (15 ส.ค.) ที่เปิดตลาดปรับลดลงไปตามๆกัน ดัชนีนิกเคอิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ร่วงลง 330.88 จุด หรือ -1.60% แตะที่ 20,324.25 จุด ดัชนีโทปิกซ์ (ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเช่นกัน) ร่วงลง 1.95%  ดัชนีเอสแอนด์พี/เอเอสเอ็กซ์ 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวลง 1.91%  

 

กริ่งเตือนเศรษฐกิจถดถอยดังลั่น! ตลาดหุ้นโลกระส่ำ

นอกจากความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากตลาดพันธบัตรสหรัฐฯแล้ว  นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฏาคมขยายตัวเพียง 4.8%  (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) นับเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 17 ปี ยอดค้าปลีกเติบโตเพียง 7.6% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ส่วนยอดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นเพียง 4.8% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 หดตัวลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2561

 

ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดยังได้รับอีกปัจจัยลบจากการที่ นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยในวันเดียวกันนั้นว่า การที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจชะลอการขึ้นภาษีสินค้าบางรายการที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเดิมกำหนดจะขึ้นภาษีเพิ่ม 10% เริ่มวันที่ 1 ก.ย. นี้ ชะลอไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. ไม่ได้มีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯยอมอ่อนข้อหรือมีการแลกเปลี่ยนทางการค้ากับจีน แต่เป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯต้องการช่วยเหลือผู้บริโภคชาวอเมริกัน ไม่ให้ต้องกระเป๋าฉีกเนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นมากในเทศกาลแห่งการจับจ่ายซื้อสินค้าช่วงปลายปีเท่านั้นเอง