สมคิด กำชับ ก.อุตฯ ดูแลเอสเอ็มอีรายเล็กช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

14 ส.ค. 2562 | 09:15 น.

รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานสังกัดดูแลเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายเล็กช่วงเศรษฐกิจถดถอย  ชี้เป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบ  พร้อมตั้งศูนย์ไอซีทีให้เพียงพอความต้องการ  ด้าน ธพว. ขอเงิน 2 หมื่นล้านช่วยคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
สมคิด กำชับ ก.อุตฯ ดูแลเอสเอ็มอีรายเล็กช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า เวลานี้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก  โดยเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย เพราะฉะนั้นเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตฯที่จะต้องเข้าไปสนับสนุนก็คือเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดย่อม  หรือเอสเอ็มอี (SMEs) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก  โดยมองว่าเอสเอ็มอีไม่ใช่มีเพียงแค่ในอุตสาหกรรม  แต่วิสาหกิจของเกษตรก็คือเอสเอ็มอีเกษตร

ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานในสังกัดต้องเร่งช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็กหรือเอสเอ็มอี โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. (SME D Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อให้การเข้าไปช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

“การมีกองทุนขึ้นมาจะต้องให้แน่ใจว่าเอสเอ็มอีคนตัวเล็กจะเข้าถึงสินเชื่อ  เพราะกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวมักจะเข้าไม่ถึง  จะต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างมาก  โดยเฉพาะรายเล็กที่อ่อนแอมาก  ต้องการให้ช่วยดูเป็นพิเศษ  เพราะผู้ประกอบการดังกล่าวนี้ไม่ค่อยมีที่พึ่งในการเข้าถึงแหล่งเงิน”

ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้จัดศูนย์ไอทีซีให้เพียงพอกับความต้องการใช้บริการของเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบัน กสอ.มีศูนย์ไอซีที รวม 105 แห่ง หากงบประมาณไม่เพียงพอก็ให้ของบประมาณเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ จะต้องมุ่งการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่าและธุรกิจบริการโดยเฉพาะการขับเคลื่อนไปสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางภูมิภาคหรือ Bio Hubซึ่งเรื่องนี้ขอให้บีโอไอนำปรับใช้เป็นนโยบายใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายสมคิด ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาพื้นที่จัดตั้งสำนักงานไทยแลนด์ ไซเบอร์พอร์ท (Thailand Cyberport) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว  เพื่อให้เป็นอีกศูนย์ในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพไทย รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรม  โดยจะมีการลงนามความร่วมมือในการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งเบื้องต้นมีการระดมเงินทุนในการจัดตั้งประมาณ 635 ล้านบาท

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า  รองนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ขณะนี้มีสัดส่วนมากถึง 90% ของกิจการทั้งหมดในประเทศไทย ทั้งด้านการพัฒนาต่อยอดการทำธุรกิจผ่านการให้องค์ความรู้ ช่วยเหลือจัดงบประมาณต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น  ด้านอุตสาหกรรมเกษตรถือเป็นแนวนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้ก้าวเข้าสู่เกษตรแปรรูปโดยเชื่อมโยงพื้นที่เป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงผ่านมาตรการสนับสนุนของบีโอไอต่อไป

สมคิด กำชับ ก.อุตฯ ดูแลเอสเอ็มอีรายเล็กช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่ กสอ. ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี แต่ได้รับงบประมาณค่อนข้างน้อยนั้น เรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องมีการชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ  จนนำไปสู่การได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป  โดยเบื้องต้นได้ของบประมาณปี 63 กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท  เพื่อนำมาพัฒนาและดำเนินโครงการใหม่ๆ หลังจากปีที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณเพียง 5 พันล้านบาท  
 

นายพงชาญ  สำเภาเงิน  รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า  เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยธนาคารของรัฐจึงต้องมีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือ  โดย ธพว. ได้มีการนำเสนอเพื่อขอเงินกองทุนเพิ่มประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของสำนักงานเศรรษฐกิจการคลัง (สศค.)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอคนตัวเล็กรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ระยะเวลาในการผ่อนชำระ 7 ปี  ซึ่งคาดว่าหากได้รับการอนุมัติเงินกองทุน  จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการเพื่อปล่อยสินเชื่อได้หมดภายในสิ้นปีนี้ 

สมคิด กำชับ ก.อุตฯ ดูแลเอสเอ็มอีรายเล็กช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ส่วนของ ธพว. เองมีวงเงินสินเชื่อของธนาคารอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการโลคอลอีโคโนมี่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท  อัตราดอกเบี้ย 3% ในช่วง 3 ปีสำหรับนิติบุคคล  หากเป็นบุคคลธรรมดาอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5% อีกทั้งยังมีสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีขนาดกลางประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.875% ในช่วง 3 ปีแรก  ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  หรือเอ็นพีแอล (NPLs) นั้น  ตั้งแต่ปี 58 ธนาคารปล่อยสินเชื่อตามวัตถุประสงค์  พร้อมกับให้ความรู้คู่ทุนกับผู้ประกอบการ  ทำให้เอ็นพีแอลอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะการวางหลักประกัน ส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักประกันพอที่จะวางค้ำประกันเงินกู้และปัญหาเครดิตบูโร จึงต้องการให้กระทรวงอุตฯผลักดันสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับเอสเอ็มอีด้วย