เปิดเฮียริ่ง “กองทุนบัตรทอง” สปสช. หนุนการแพทย์ไทย

11 ส.ค. 2562 | 11:13 น.

สปสช.เปิดเฮียริ่ง “กองทุนบัตรทอง”ครั้งที่ 16 ระหว่าง 15-16สิงหาคม 2562 เพิ่ม 2บริการ  “แผนไทย-ทางเลือก”ให้สิทธิประโยชน์กับประชาชน ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หนุนภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย

 

การจัดการรับฟังความเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นับเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดย สปสช.ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขและหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข รวมถึงพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นไปตามตามยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ครั้งที่ 16  ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ส.ค. 2562 นี้ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดเวทีการรับฟังความเห็นทั่วไปฯ พร้อมมอบนโนบาย “ทิศทางเพื่อการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยมีผู้แทนทั้งส่วนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจาก 13 เขตเข้าร่วมกว่า 500 คน  ซึ่งขั้นตอนรับฟังความเห็นทั่วประเทศและระดับเขตมาทั้ง 13 เขต เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาแล้ว

นอกจากรับฟังความเห็นทั่วไปในปี2562 ในประเด็น 7 ด้านตามข้อบังคับแล้ว  อาทิ  1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะปีนี้ได้เพิ่มเติมการรับฟังความเห็นในประเด็น การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อให้มีการระดมความเห็นที่นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์แพทย์แผนไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้  จะรวบรวมความเห็นที่ได้รับผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ระบบออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซด์และเฟสบุ๊ค สปสช.  หรือการลงพื้นที่  การทำงานร่วมกับหน่วยงาน สถาบันวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งจากสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในด้านนโยบาย การบริหาร การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป