'อุตตม' เฉือนคม 'จุรินทร์' แก้ปัญหาชาวนารอไม่ได้

09 ส.ค. 2562 | 11:39 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3495 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.2562 โดย..กระบี่เดียวดาย

 

'อุตตม' เฉือนคม 'จุรินทร์'

แก้ปัญหาชาวนารอไม่ได้

 

                  สถานการณ์ภัยแล้งช่วงที่ผ่านมาและยังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ รายงานปริมาณนํ้าในเขื่อนหลักลดลงอย่างน่าใจหายแทบไม่เพียงพอในการใช้อุปโภค บริโภค อย่าว่าแต่ใช้ในภาคการเกษตร

 

'อุตตม' เฉือนคม 'จุรินทร์' แก้ปัญหาชาวนารอไม่ได้

 

                  เมื่อแล้งหนักเข้าขั้นวิกฤติ แน่นอนย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ล้านครัวเรือน ประมาณการว่ามีชาวนา 16 ล้านคน

                  ในคราวรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคต่างแย่งชิงฐานคะแนนเสียงชาวนา ที่เป็นกอบเป็นกำ แต่ละพรรคเข็นนโยบายช่วยเหลือชาวนาออกมายกใหญ่ ทั้งประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้และได้รับมอบให้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่พรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐใช้นโยบายอุดหนุนปัจจัยการผลิตตั้งแต่เอาข้าวลงแปลงปักดำไปจนถึงเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง

                  ไม่ว่ากันถ้าจะแย่งชิงกันช่วยชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่อย่าให้เกินกรอบของการช่วยเหลือปกติและให้ตรงกับความต้องการของชาวนา และต้องไม่เป็นภาระงบประมาณที่จะกระทบกับส่วนอื่นๆ มากจนเกินไป

                  ภัยแล้งคุกคามชาวนาอย่างหนัก โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าวตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ (วันที่ 20 พฤษภาคม 2562) และมีสัญญาณให้ชาวนาเริ่มทยอยปลูกข้าว

                  พฤติกรรมชาวนาเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แบบเดิม จะมา “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” ไม่ได้ เพราะอายุพันธุ์ข้าวที่ปลูกไม่ใช่ 4 เดือน ประกอบกับดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ถ้าช่วงนั้นฝนไม่ตก ชาวนาจะไม่ได้ปลูกข้าวเลย ดังนั้นพอฝนตกชาวนาก็ปลูกข้าวกันแล้ว

                  ปีนี้มีการปลูกข้าวรอบแรกไปแล้ว 52 ล้านไร่ พื้นที่ข้าวปลูกภาคอีสาน 30 ล้านไร่ ปลูกไปแล้วกว่า 20 ล้านไร่ คาดว่าจะมีการปลูกข้าวที่เหลือประมาณ 8-10 ล้านไร่ ประมาณกลางเดือนนี้ โดยพายุ “วิภา” ทำให้ภัยแล้งดีขึ้นบ้าง

                  คาดว่าจะมีความเสียหายไม่น้อยกว่า 400,000-1,000,000 ไร่ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกภาคกลางได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สำหรับชาวนาข้าว 3.02 ล้านไร่

                  การเยียวยาในส่วนนี้ต้องไปไล่ดูว่ามีการทำประกันภัยพืชผลไว้บ้างหรือไม่ และหากทำประกันไว้ต้องไปไล่ดูอีกว่าได้มีประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้งตามเงื่อนไขหรือไม่

                  การแก้ปัญหาชาวนาไม่สามารถรอได้ หลัง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ประกาศนำร่องประกันรายได้ปาล์มนํ้ามันที่ 4 บาทต่อกก. มีความเคลื่อนไหวตามมาจากสมาคมชาวนาฯทวงถามนโยบายประกันรายได้ชาวนา จะประกันอย่างไร ราคาที่เท่าไรแต่ละชนิดข้าว ปัญหาภัยแล้งจะออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างไร โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิกว่า 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาฯ สมาชิกสมาคมแจ้งว่าถ้าไม่มีฝนตกหรือนํ้าเข้านาภายใน 7 วันจะเสียหายทั้งหมด

                  สมาคมชาวนายังทวงถามเรื่องค่าเช่านา ปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี ค่าเก็บเกี่ยว มาตรการอื่นๆ ยังไม่มีอะไรออกมาเลยพร้อมสำทับว่าจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน

                  เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่มีกลไกแขนขากระทรวงเกษตรฯและพาณิชย์เข้าดูแลเกษตรกร แต่มีกระทรวงการคลังที่มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ใต้สังกัด จึงต้องงัดออกมาใช้อย่างเร่งด่วน

                  อุตตม สาวนายน รมว.คลัง สั่งการบ้านด่วนไปยังธ.ก.ส.หาทางช่วยชาวนา นำไปสู่การช่วยเหลือต้นทางในด้านอุดหนุนปัจจัยการผลิต แว่วว่าปัจจัยการผลิตที่จะจ่ายเงินตรงไปที่ชาวนาไม่ตํ่ากว่า 800 บาทต่อไร่ ให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนสะพัดในระดับฐานรากก่อน จะเข้าครม.กลางเดือนนี้

                  แน่นอนประกันรายได้ของจุรินทร์กว่าจะได้ใช้ ก็ต่อเมื่อผลผลิตเข้าตลาดประมาณธันวาคมยาวไปจนถึงมีนาคมสำหรับข้าวนาปี

                  แก้ปัญหาชาวนารอไม่ได้ อุตตมจำต้องเฉือนคมเล็กๆกับจุรินทร์ ชิงลงมือก่อน

                  จะหักเหลี่ยมเฉือนคมอย่างไรก็ช่างเถิด...เอาเป็นว่าให้ประโยชน์โพดผลตกถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง อย่าให้เกิดการรั่วไหลสูญหายระหว่างทาง ที่เป็นการกระทำย่ำยีกับชาวนาเหมือนโครงการในอดีตที่ผ่านมา