ฟู้ด ดีลิเวอรี แข่งเดือด GET เปิดศึก Grab ชิงตลาด 35,000 ล้าน

13 ส.ค. 2562 | 23:40 น.

การแข่งขันของธุรกิจส่งอาหารในไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี 2562 นี้ บริการส่งอาหารหรือ Food Deliver จะมีมูลค่าสูงถึง 33,000-35,000 ล้านบาทหรือ เติบโตประมาณ 14% จากปีที่ผ่านมา จากการเปลี่ยน แปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องมีการปรับตัวและเพิ่มช่องทาง ในการขายที่นอกเหนือจากหน้าร้านแบบออฟไลน์ มาสู่โมเดลธุรกิจแบบออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับแอพพลิเคชันบริการส่งอาหารที่ต่างออกมาสาดแคมเปญในช่วงครึ่งหลังของปีกันอย่างดุเดือด เพื่อชิงแชร์ยอดผู้ใช้งาน

นายภิญญา นิตยา-เกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เปิดเผยว่า ตอนนี้ GET FOOD ถือได้ว่าเป็นบริการหลักของเก็ท เพราะหลังจากที่เปิดให้บริการมาประมาณครึ่งปี พบว่า
ยอดผู้ใช้งานเติบโตมากถึง 6 เท่า โดยมีปริมาณการสั่งซื้ออาหารที่เติบโตถึง 168% ปัจจุบันเก็ทมีร้านอาหารพันธมิตรกว่า 2 หมื่นร้าน และมีผู้ใช้แอกทีฟ (Active User) ที่ใช้บริการของ GET อยู่ที่ราว 5 แสนรายต่อเดือน ซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับทั้งร้านอาหารและคนขับของเก็ทหลายหมื่นคน

 

ล่าสุด เก็ทได้เปิดตัว แคมเปญภายใต้ชื่อ “อยากกินอะไร สั่ง GET เลย” โดย ดึง “นนท์-ธนนท์” มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์คนแรกของเก็ท หวังเจาะกลุ่มลูกค้าในระดับแมสมากขึ้น อีกทั้งแคมเปญนี้ยังมีคอลเลกชันอาหารสุดพิเศษ “Only At GET เรื่องกินต้องเก็ท” ที่นำเสนออาหารจานเด็ดที่ไม่สามารถหาที่อื่นได้ โดยเป็นเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นมาพิเศษเพื่อลูกค้า GET โดยเฉพาะจาก 4 เชฟชื่อดัง ทั้งเชฟต้น จากร้านบ้าน เชฟกิ๊ก จากร้านเลิศทิพย์ เชฟเปเปอร์ จาก ร้าน ICI และเชฟเก๊า หรือเฮียเก๊า จากร้านเจ๊โอวในตำนาน ทั้งนี้ เก็ทยังได้เปิดให้บริการฟีเจอร์ใหม่อย่าง OMAKASE ที่ช่วยแนะนำเมนูอาหารที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน การ ค้นหาร้านค้าที่มีความแม่นยำ และเพิ่มความสะดวกในการใช้ บริการสั่งอาหารได้พร้อมกันครั้งละหลายร้าน อีกทั้ง GET Food ยังได้เร่งพัฒนาคุณภาพการบริการโดยสามารถจัดส่ง อาหารได้ในเวลา 30 นาที

ฟู้ด ดีลิเวอรี แข่งเดือด GET เปิดศึก Grab ชิงตลาด 35,000 ล้าน

นางสาววงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการธุรกิจ GET FOOD กล่าวเพิ่มเติมว่า เก็ทได้มี การศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าและนำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการ และนำเสนอบริการที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละราย โดยเก็ท ได้แบ่งพฤติกรรมลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.Explorers คือ ลูกค้าที่ใช้เก็ทในการค้นหาร้านอาหารที่ต้องการในขณะนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 58% 2.Chillaxer คือ กลุ่มคนที่ต้องการสั่งอาหาร แต่ยังไม่รู้จะสั่งอาหารประเภทใดซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 18% และ 3.Routine lovers คือ กลุ่มคนที่มีเมนูอาหารที่ต้อง การอยู่แล้วและเข้ามาเพื่อสั่งอาหารผ่านแอพเก็ท มีประมาณ 16% ซึ่งสิ่งที่ผู้ใช้ 3 กลุ่มนี้ให้ความสำคัญคือ เรื่องของโปรโมชันและแคมเปญทางการตลาด โดยเมนูค้นหายอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว, ขนมปัง และส้มตำ

 

ขณะที่ทาง แกร็บฟู้ด ก็ได้มีการเปิดตัวแคมเปญแห่งปีอย่าง “GrabFood 8.8 Mega Sale” หลังจากที่ประสบความสำเร็จไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 แกร็บฟู้ดสามารถสร้างรายได้ให้กับพันธมิตรร้านอาหารเพิ่ม ขึ้นเฉลี่ย 8 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งแกร็บยังได้จับมือกับ เพจรีวิวอาหารออนไลน์ อย่าง “STARVINGTIME เรื่องกินเรื่องใหญ่” และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารกว่า 250 แห่ง เพื่อ มาร่วมในแคมเปญ “GrabFood 8.8 Mega Sale” โดยมอบส่วนลดสูงสุดถึง 80% และดีลพิเศษกว่า 8,000 ดีล

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บฟู้ดเป็นบริการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มการส่งอาหาร แบบออนดีมานด์อันดับ 1 ของไทย เนื่องจากพันธมิตร  ร้านอาหารมีความเชื่อมั่นในแพลตฟอร์มของแกร็บ เนื่องจากแกร็บสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารเฉลี่ย 8 เท่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และยังมีส่วนช่วยให้ร้านอาหารปรับตัวเข้ากับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำให้แกร็บสามารถขยายฐานพาร์ตเนอร์ร้านอาหารออกไปได้อย่างรวดเร็ว 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3495 ระหว่างวันที่ 11 - 14 สิงหาคม 2562