ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’ รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’

12 ส.ค. 2562 | 04:35 น.

 

     หลังจาก 2 ทายาทรุ่น 3 “ปีเตอร์-พอลล์ กาญจนพาสน์เข้ามาช่วยดูแลกิจการของบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด  (มหาชน) หรือบีแลนด์ เคียงคู่บิดามาร่วม 20 ปี โดย ปีเตอร์ ดูแลการลงทุนของบีแลนด์ ส่วน พอลล์ บริหารอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบีแลนด์

ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’  รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’

         วันนี้เมื่อถึงเวลาที่ อนันต์ กาญจนพาสน์ วางมือจากธุรกิจ เหลือเพียงคอยมาเป็นที่ปรึกษาให้ลูกๆ การรับไม้ต่อการบริหารงานอย่างเต็มตัวของทั้ง 2 ทายาทรุ่นนี้ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ผลักดันอาณาจักรอิมแพ็ค เมือง ทองธานีให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ อ่านได้จากการเปิดใจของนายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ รองประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด

ปีเตอร์  กาญจพาสน์

ขยายอาณาจักรเมืองทองธานี

      ปีเตอร์ : เมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน ตอนผมทำโครงการทาวน์เฮาส์ ชื่อ วิลล่า อเบลโล ที่ถนนพัฒนาการ ย่านศรีนครินทร์ ประสบความสำเร็จปิดการขายได้ทุกยูนิตอย่างรวดเร็ว แต่แล้วผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั้นทำไมคุณพ่อ (อนันต์ กาญจนพาสน์) จึงตัดสินใจขายที่ดินย่านพัฒนาการทั้งหมด 1,350 ไร่ ได้เงินมา 14,900 ล้านบาท แล้วนำเงินกลับไปซื้อหุ้นบีแลนด์ 2 หมื่นล้านหุ้น จากเดิมที่ถืออยู่ 1.7 หมื่นล้านหุ้น ทำให้ราคาหุ้นช่วงปี 2560-2561 ขยับจาก 1.5 บาทต่อหุ้น เป็น 2.69 บาทต่อหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับเงินโอนจากการขายที่ดินมาแล้ว 1 หมื่นล้านบาท และในสิ้นปีนี้จะรับโอนมาอีก 4 พันล้านบาท

 

ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’  รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’

ปีเตอร์ กาญจนพาสน์

 

      “ตอนนี้ผมเข้าใจนโยบายของคุณอนันต์ ที่ต้องการขยายการลงทุนมาที่ เมืองทองธานี เพราะเห็นศักยภาพและการเติบโตดีที่สุด และมองย้อนกลับไปเราถือว่าคุณปู่ (นายมงคล กาญจนพาสน์) มองการณ์ไกลซื้อที่ดินไว้ถึง 4,000 ไร่ พัฒนาโครงการเมืองทองธานีมาเรื่อยๆ ตอนนี้ยังเหลือที่ดินอีก 600 ไร่ที่รอการพัฒนา

       นั่นแสดงให้เห็นว่าวิชันของเราคือ การสืบทอดวิสัยทัศน์ของคุณปู่และคุณพ่อ เพื่อเดิน ไปสู่วิชันการทำเมืองทองธานีให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ

      นี่เองทำให้ที่ผ่านมาเราจะเห็นโครงการเปิดใหม่หลายอย่างในพื้นที่นี้ อย่าง คอสโม บาซาร์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบ เพิ่งเปิดมา 5 เดือน แต่ได้รับการตอบรับดีจากคนในเมืองทองธานีกว่า 3 แสนคน หรือแม้แต่คนมาร่วมงานแสดงสินค้าในอิมแพ็ค ก็จะมีที่กินที่ช็อปปิ้ง จึงเป็นการเติมเต็มความครบครันของพื้นที่เมืองทองธานี

 

 

เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ 3 เท่า

      ดังนั้นการลงทุนในทุกโปรเจ็กต์ของเมืองทองธานี จึงถือว่าเป็นการเกื้อกูลกัน และคอนเซ็ปต์การพัฒนาจากนี้ ก็เพื่อสนับสนุนกันในทุกโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและชุมชนเมืองทองธานี และต่อยอดให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 3 เท่า ในอนาคตหากมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามายัง 2 จุด ในอิมแพ็ค คือ บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ และทะเลสาบ เมืองทองธานี ไม่เพียงช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าที่มาเมืองทองธานีเพิ่มขึ้นกว่า 30% ยังทำให้มูลค่าทรัพย์สินในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นด้วย อย่าง เมื่อก่อนโครงการป๊อปปูล่า คอนโดมิเนียม ที่ 6 ปีก่อนบีแลนด์ได้เทขายในราคาเริ่มต้น 1.99 แสนบาทต่อห้อง ขณะนี้ราคาขายต่อสูงถึง 8 แสนบาทต่อห้อง เมื่อมีข่าวว่ารถไฟฟ้าจะเข้ามาในเมืองทอง

ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’  รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’

       นอกจากนี้บีแลนด์เตรียมแผนขยายการลงทุนในพื้นที่ที่ยังเหลือพัฒนาได้อีก 600 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดในเมืองทองธานีทั้งหมด 4 พันไร่ เพื่อสร้างโรงแรม การลงทุนด้านไมซ์ ช็อปปิ้งมอลล์ กันงบลงทุนไว้ราว 5-6 พันล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าแล้วเสร็จในปี 2564 และตั้งเป้าเพิ่มรายได้บีแลนด์ เกิน 1 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี จากปีงบประมาณ 2562 (1 เมษายน 2561-30 มีนาคม 2562) มีรายได้ 7,974 ล้านบาท กำไร 1.81 พันล้านบาท

 

เน้นลงทุนอสังหาฯเพื่อเช่า

       การลงทุนต่างๆ ของเราไม่รีบร้อน เราไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร ทุกอย่างใช้เงินลงทุนของตัวเอง เน้นการให้เช่ามากกว่า โดยจะขยายพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าเพิ่มขึ้น จุดหมายของเรายังเป็นพร็อพเพอร์ตี ดีเวลอปเปอร์ แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนอสังหาฯเพื่อขาย เพราะจะเห็นว่าตอนนี้ทั้งเส้น ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ โครงการบ้าน คอนโดฯ เกิดขึ้นมากและก็ขายยังไม่หมด บีแลนด์ ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องลงไปแข่งขันในตลาดนี้ และหากตัวอสังหาฯเพื่อเช่าสามารถสร้างรายได้อย่างดี มีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าต่อเนื่อง สามารถต่อยอดนำเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท ได้ด้วย

 

ดันยอดจัดงานโต20%ใน3ปี

      พอลล์ : การบริหารงานของอิมแพ็ค เราตั้งเป้าเพิ่มยอดจัดงาน 15-20% ในช่วง 3 ปีนี้ โดยคาดหวังให้มีการใช้พื้นที่จัดงานเพิ่มเป็น 70% จากปัจจุบัน จัดงานเฉลี่ย 57% มีงานเข้ามาจัดราว 1 พันงาน รองรับผู้ร่วมงานกว่า 10 ล้านคนต่อปี โดย มุ่งเน้นการขายงานขนาดเล็กให้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนจะนึกถึงอิมแพ็คว่าเป็นการจัดงาน ขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่เรามีฮอลล์ ขนาดเล็กรองรับหลายจุด

 

ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’  รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’

พอลล์ กาญจนพาสน์

 

     อีกโจทย์คือมุ่งหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่น เช่น รายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม มาจากธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ เพราะครัวเป็นสิ่งที่เราลงทุนอยู่แล้ว การใช้ประโยชน์จากครัวในชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น จาก 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะทำให้เราสร้างรายได้จากในส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม จาก 700 ล้านบาทเป็น 2 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้

     ทั้งเรายังไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์กาแฟพรีเมียมจากฮ่องกง ชื่อเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ (The Coffee Academics) มาขยายในไทยมีสาขาแรกที่ซอยหลังสวน และจะเปิดอีก 8-10 สาขาใน 3 ปีนี้

      ส่วนปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศมีผลต่อการเติบโตของ อิมแพ็ค เรียกว่าทางอ้อมเท่านั้น ลูกค้าในส่วนของตลาดต่างประเทศและเอกชนยังจัดงานต่อเนื่อง เพราะการเทรดโชว์ก็เป็นการสร้างยอดขาย และเทคโนโลยี ก็ไม่ได้เข้ามากระทบต่อธุรกิจแสดงสินค้า เพราะลูกค้ายังเลือกที่จะเข้ามาสัมผัสกับสินค้าโดยตรงอยู่นั่นเอง

สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3495 วันที่ 11-14 สิงหาคม 2562

ถอดรหัสGEN3‘บีแลนด์’  รับไม้ต่อ ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’