“สุริยะ”มอบนโยบายให้ สศอ.เร่งขับเคลื่อนอุตฯเป้าหมายดัน ศก. หมุนเวียน

07 ส.ค. 2562 | 06:40 น.

รมว.อุตสาหกรรมมอบนโยบาย สศอ.เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะแรก พร้อมผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมยกระดับทักษะแรงงานให้ได้มาตรฐานผ่านแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะบุคลากรแห่งชาติ

“สุริยะ”มอบนโยบายให้ สศอ.เร่งขับเคลื่อนอุตฯเป้าหมายดัน ศก. หมุนเวียน

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยภายหลังการเดินทางมาตรวจเยี่ยม  และมอบนโยบายให้กับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  ว่า มีแนวนโยบายสำคัญที่มอบให้ สศอ. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การจัดทำมาตรการเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่โดยเฉพาะประเทศจีนและป้องกันการย้ายฐานการผลิต การพัฒนาระบบ i-industry/Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนการร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไขและให้การสนับสนุน มาปรับปรุงนโยบาย/ปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและการประกอบการอุตสาหกรรมต่อไป โดยในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ตนมีกำหนดจะเข้าไปพบปะกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมร่วมกันด้วย

ทั้งนี้  ได้มอบหมายให้ สศอ. ดำเนินการขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว พร้อมเดินหน้าเสนอนโยบายอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขยายผลการพัฒนา และผลักดันมาตรการใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำการทบทวนมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ A-C-E-S (Autonomous-Connected-Electric-Shared & Services) ในขณะที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมนำเสนอบริการของแพลตฟอร์ม ITP (Industry Transformation Platform) และขยายผลการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs  ทั่วประเทศให้มากขึ้น รวมถึงเตรียมขยายความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับต่างประเทศ อาทิ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

ด้านของอุตสาหกรรมชีวภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และได้เตรียมประชาสัมพันธ์ให้จังหวัดอุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา และลพบุรี เป็นพื้นที่ลงทุน Bio Hub เพิ่มเติม และในอุตสาหกรรมอาหาร ได้เตรียมดำเนินการเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนเสนอเข้า ครม. ต่อไป โดยจะยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นนักรบพันธุ์ใหม่ (Food Warrior) ในด้านต่าง ๆ เช่น Automation นวัตกรรม การตลาด และดิจิทัล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยเชื่อมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร food Innopolis 

“สุริยะ”มอบนโยบายให้ สศอ.เร่งขับเคลื่อนอุตฯเป้าหมายดัน ศก. หมุนเวียน

นอกจากนี้  ยังมอบหมายให้ สศอ. ศึกษาข้อมูลเชิงลึกแนวทางการจูงใจการลงทุนรายประเทศและผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ปรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve เดิมและผลักดันมาตรการใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน เร่งแก้ไขปัญหา Non-Tariff Barrier ป้องกันการย้ายฐานการผลิต รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับผู้ประกอบการประเทศเป้าหมาย และยกระดับการสร้างความสัมพันธ์ภาครัฐผ่าน MOU กับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศจีนและเกาหลีใต้ ที่อุตสาหกรรมอยู่ในระหว่างการผลักดันการจัดตั้งสำนักงานอุตสาหกรรมด้วย

นายณัฐพล  รังสิตพล  ผู้อำนวยการ  สศอ. กล่าวว่า นอกจากเรื่องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม s-curve แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มอบหมายให้ สศอ. เตรียมผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสียและการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงได้มอบหมายให้ผลักดันการพัฒนาระบบโครงข่ายทักษะบุคลากรแห่งชาติ (National Re-skill Platform) ที่จะยกระดับทักษะแรงงานให้ได้มาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลแรงงานด้วยระบบ Big Data โดยให้สิทธิประโยชน์ เช่น การลดราคาเช่าพื้นที่ หรือการกำหนดให้ประกาศนียบัตร/หนังสือรับรองฯ ของแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งสามารถใช้เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในการพิจารณาให้สินเชื่อผู้ประกอบการด้วย 

“สุริยะ”มอบนโยบายให้ สศอ.เร่งขับเคลื่อนอุตฯเป้าหมายดัน ศก. หมุนเวียน

อย่างไรก็ดี  เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานภาครัฐ 4.0 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ผลักดันการใช้ระบบ i-Industry เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และลดความซ้ำซ้อนจากการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน  ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าร่วมกันผ่านระบบ i-Industry ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยจะเชื่อมข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละภาคส่วน ยกระดับการทำงานเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในยุค 4.0  โดยตั้งเป้าเชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตรและเปิดใช้งานระบบได้อย่างครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มภายในปลายปีนี้