เตือนประกันชีวิตรับมือ ดอกเบี้ยต่ำ มาตรฐานใหม่

09 ส.ค. 2562 | 11:05 น.

 

พัฒนาการ ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ e-KYC ภายใต้บริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ National Digital ID (NDID) ที่จะเริ่มเฟสแรกไตรมาส 4 ปีนี้  โดยนำร่องเปิดบัญชีเงินฝากข้ามธนาคาร ด้านธุรกิจประกัน สมาคมประกันชีวิตไทยอยู่ในขั้นตอนเจรจาค่าบริการกับ NDID แม้จะมีราคามาตรฐานอยู่แล้ว แต่กรณีที่บริษัทไม่พัฒนาระบบ หรือไม่เป็นโหนดเอง โดยบริษัทเลือกที่จะใช้ระบบ Proxy นั้น บริษัทประกันจะต้องดึงข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์มาใช้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะคิดค่าบริการไม่เท่ากัน ในหลักการ NDID จะคิดค่าบริการ 3 บาทต่อการยื่นคำขอ 1 ครั้ง โดยรวมค่าบริการจนจบกระบวนการ จะตกประมาณ 20 บาทต่อ 1 ครั้ง แต่กำลังต่อรองลดค่าบริการให้ตํ่ากว่า 10 บาท

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้มี 14 บริษัทที่สนใจเข้าร่วมศึกษานวัตกรรมใน 3 รูปแบบคือ การขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ การเคลมสินไหม และการให้บริการ ซึ่งแต่ละบริษัทอาจเสนอแนวทางที่ต่างกัน บางแห่งอาจทำเฉพาะการเคลม หรือการให้บริการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายระยะยาวและส่งเสริมการทำธุรกรรม บางขั้นตอนอาจต้องไปถึงการใช้ Bio Matrix ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ลายนิ้วมือ นอกเหนือจากเอกสารหรือบัตรประชาชน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล และถ้าเป็นไปได้ในอนาคตจะนำไปใช้ในการพัฒนา e-KYC ตามกฎหมายฟอกเงินด้วย

เตือนประกันชีวิตรับมือ  ดอกเบี้ยต่ำ  มาตรฐานใหม่

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

 

ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตจะเข้าโครงการนำร่อง เพื่อทดสอบ 3 เดือนก่อนนำมาปฏิบัติจริง แต่ที่ยังไม่มีข้อยุติคือ ค่าบริการที่อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารพาณิชย์  ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับลดค่าธรรมเนียมลง บริษัทประกันจะต้องเลือกวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะกลุ่มบริษัทประกันชีวิตมีการเปิดบัญชีแต่ละปีเป็นหลักล้านธุรกรรม เฉพาะลูกค้าใหม่ 3-4 ล้านรายหรือการให้บริการลูกค้าที่ครบกำหนด จะต้องมีการยืนยันตัวตนหรือการจ่ายเคลมสินไหม น่าจะ 20-30 ล้านต่อปี หากธนาคารพาณิชย์คิดค่าใช้จ่ายแพง ก็จะไม่คุ้มกับบริษัทประกัน

สมาคมยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 4 ที่จะนำมาใช้ต่อไปอีก 5 ปี ต่อจากแผน 3 ที่จะสิ้นสุดในปี 2564  ซึ่งในช่วงที่ธุรกิจชะลอตัว จึงอยากใช้เวลาพัฒนาบริการและโปรดักต์หรือเน้นการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพัฒนากรมธรรม์ที่ตรงใจลูกค้า แต่มาตรฐานกำกับใหม่ๆ ทำให้ต้องรักษาจุดสมดุลระหว่างการส่งเสริมให้ธุรกิจมีความสะดวกและอยู่รอดได้ด้วย

 

ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตฯต้องระมัดระวังเรื่องเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง(RBC) ซึ่งเป็นความท้าทายที่พ่วงมากับกฎระเบียบและมาตรฐานกำกับใหม่ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่า เป็นปัจจัยท้าทายในการเสนอขายสินค้าและผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะบริษัทที่มีกรมธรรม์เก่าแบบการันตีผลตอบแทนไว้มาก จะต้องรักษาความสามารถในการทำกำไร เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ซึ่งมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ IFRS 17 ที่จะนำมาใช้ในปี 2563 ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเช่นกัน

ยอมรับว่า มีหลายปัจจัยท้าทายที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องฝ่าฟัน แม้ครึ่งปีแรกเบี้ยประกันภัยรับจะติดลบ 6% แต่ระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสริมให้ภาคธุรกิจเสนอขายผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคได้ เพราะคนไทยถือกรมธรรม์เพียง 38-39% เท่านั้นแต่ยังมีอีกเกือบ 70% ที่ยังไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562

เตือนประกันชีวิตรับมือ  ดอกเบี้ยต่ำ  มาตรฐานใหม่