แล้งกดจีดีพีเกษตรQ1หด2.1% สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินทั้งปีผลผลิต-ราคาวูบเสียหายมากกว่าปีก่อน

29 มี.ค. 2559 | 06:30 น.
เปิดแฟ้มข้อมูล ก.เกษตร ย้อนหลัง 4 ปี ผงะแล้ง ปี 55 นาข้าวเสียหายยับ 5.74 ล้านไร่ เคาะเงินช่วยเหลือกว่า 6 พันล้านบาท ขณะปี 59 สศก.ประเมินแล้งทุบภาคเกษตร คาดทั้งปีจะเสียหายสิ้นเชิงมากกว่าปีก่อน 1-2% ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยาง อ้อย ปาล์ม ลำไย ผลผลิตวูบถ้วนหน้า แถมราคาลดลง

[caption id="attachment_40921" align="aligncenter" width="700"] ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไทย 2559 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไทย 2559[/caption]

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ได้คาดการณ์จะมีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ1-2% (จากปี 2558 มีมูลค่าความเสียหายราว 1.55 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากการเก็บบันทึกข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับตั้งแต่ปี 2551 -2558 พบว่าในปี 2555 มีเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติแล้งสูงสุด จำนวน 7.66 แสนราย นาข้าวเสียหายกว่า 5.74 ล้านไร่ วงเงินช่วยเหลือ 6.7 พันล้านบาท ลำดับรองลงมาในปี 2558 มีเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 2.7 แสนราย นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 2 ล้านไร่ วงเงินช่วยเหลือ 3.2 พันล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

สอดรับนายสุรพล เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่กล่าวว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ในปี 2558 ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 1.55 หมื่นล้านบาท กรณีแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6.95 พันล้านบาท คิดเป็น 45% ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6.24 พันล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าความเสียหายรวม

"ที่ผ่านมากระทรวงได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ในปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการรวม 45 โครงการ ขับเคลื่อนผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3.23 หมื่นล้านบาท มีผลการจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย อย่างไรก็ดีในแต่ละมาตรการยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปได้"

นายสุรพล กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่า หดตัว 2.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2558 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ สาขาพืช ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และยางพารา ด้านราคา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี-นาปรัง รวมทั้งยังมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ภาครัฐจึงขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนอ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลง เพราะสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้อ้อยเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับในหลายพื้นที่ฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยวทำให้ค่าความหวานลดลงด้วย

ส่วน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลำไย และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง สำหรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยางพารา ซึ่งเป็นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี 2553 ตามนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ และสับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ขณะที่สาขาประมง ปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าเทียบเรือสำคัญหลายท่าลดลงจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายการประมงฉบับใหม่ ผลดังกล่าวยังกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ ส่วนสาขา ปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีภาคเกษตรของไทยในปี 2558 ทั้งปี มูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ส่วนจีดีพีภาคเกษตรในปี 2559 ประเมินล่าสุด ณ เดือนมีนาคม 2559 จะมีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 1.4% โดยมีปัจจัยลบจากภัยแล้ง ส่วนปัจจัยบวกเป็นผลจากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559