เปิดโผสินค้าไทย  ‘ใครได้-ใครเสีย’ มะกันบีบจีน3แสนล.ดอลล์

10 ส.ค. 2562 | 02:00 น.

สัมภาษณ์

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกล็อตใหญ่ในอัตรา 10% จำนวน 3,812 รายการ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 กันยายน 2562 หลายฝ่ายตั้งคำถามการขึ้นภาษีครั้งนี้ส่งออกไทยจะได้หรือเสียอย่างไร หลังพิษสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ส่งผลส่งออกไทยวูบต่อเนื่อง ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มูลค่าส่งออกยังติดลบ 2.9%

 

เปิดโผสินค้าได้-เสีย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชารองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ ฐานเศรษฐกิจว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯในรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม) เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น เป็นต้น

หากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังอยู่ในภาวะตึงเครียดไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวม เห็นได้จากการปรับลดจีดีพีของไอเอ็มเอฟจาก 3.3% เหลือ 3.2% ทำให้บรรยากาศการค้าโลกไม่สู้ดีนัก นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่งผลให้ค่าเงินในหลายประเทศอ่อนค่าลง เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และปอนด์ ที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

 

เปิดโผสินค้าไทย   ‘ใครได้-ใครเสีย’  มะกันบีบจีน3แสนล.ดอลล์

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

 

สำหรับผลต่อภาคการส่งออกของไทยอาจกระทบกับสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนและส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง, ยางพารา ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งอาจมีการหดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบของภาษี ขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าไทยที่จะส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯได้ เช่น เสื้อผ้าเด็ก แต่อาจต้องแข่งขันกับเวียดนามที่มีฐานการผลิตด้านสิ่งทอ

นอกจากนี้มองเป็นผลในเชิงบวกแก่สินค้าเกษตรของไทยที่อาจส่งออกได้มากถึงกว่า 700 รายการในตลาดสหรัฐฯ คือ กลุ่มอาหารและเครื่องปรุงอาหาร (ได้แก่ เครื่องเทศ นํ้ามันดอกทานตะวัน นํ้ามันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia นํ้าตาลอ้อย) นํ้าผลไม้ ขิง ชาเขียว รวมถึงเสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ (ไข่มุกและนาฬิกา)และของใช้ในบ้าน  (เครื่องเซรามิก เครื่องแก้ว) ซึ่งไทยค่อนข้างมีความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้า อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์ในตัวสินค้าที่ค่อนข้างดีกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดีการส่งออกไทยไปสหรัฐฯและจีน ขยายตัวติดลบเกือบทั้งหมด โดยเดือนมิถุนายนล่าสุด ไทยส่งออกไปจีนติดลบมากสุดถึง -14.9% ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ติดลบ -2.1% เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มส่งผลชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 25% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบที่ 2 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน โดยสินค้าของไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนลดลง รวมถึงการส่งออกยังลดลงในสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, นํ้ามันสำเร็จ เป็นต้น

 

 

แนวโน้มติดลบเพิ่ม

ขณะที่การส่งออกของไทยทั้งปีนี้มีแนวโน้มติดลบมากขึ้น จากหลายปัจจัยได้แก่ การที่ไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีน จากผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ปัจจัยด้านค่าแรงที่ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าเพื่อนบ้าน จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู)ของอังกฤษ หรือเบร็กซิทที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ก็มีปัจจัยบวกการส่งออกเพิ่มได้ในตลาดรอง เช่น อินเดีย รัสเซีย และมาตรการกระตุ้นการส่งออกของรัฐบาลใหม่

ปัจจัยลบต่าง ข้างต้นกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องมีการปรับลดคนงานเนื่องจากการขายสินค้าไม่ได้หรืออาจถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งเอสเอ็มอีต้องพยายามเข้าหาซัพพลายเชนที่มีความเข้มแข็งเพียงพอในการที่จะขายสินค้าออกไปให้ได้หรือการมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ทดแทนตลาดหลัก การเร่งปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีกว่าสินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดจากจีนในปัจจุบัน ซึ่งเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวดสำหรับสินค้าที่เข้ามาทุ่มตลาดหรือขายสินค้าราคาถูกกว่าสินค้าไทย

สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยทั้งปี 2562 จะติดลบ 1% ตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เวลานี้สถานการณ์ต่างๆ ไม่นิ่ง แนวโน้มการส่งออกไทยน่าจะติดลบมากขึ้น ทาง สรท.อาจมีการปรับคาดการณ์อีกครั้งในอนาคต

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562

เปิดโผสินค้าไทย   ‘ใครได้-ใครเสีย’  มะกันบีบจีน3แสนล.ดอลล์