พญาไท2ทุ่มพันล้าน จับคนไข้แนวรถไฟฟ้า

06 ส.ค. 2562 | 08:00 น.

         “พญาไท 2” ทุ่มงบกว่าพันล้านพัฒนาโรงพยาบาลตามแนวรถไฟฟ้า หวังจับกลุ่มคนไข้ในไทยและเออีซี คาดปลายปีมีผู้ใช้บริการกว่า 3.8 แสนราย

         น.พ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเดินหน้าขับเคลื่อนการเป็นสถาบันการแพทย์ก้าวหน้าระดับโลกเพื่อตอกยํ้าการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย ขณะเดียวกันที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ผนึกกำลังกลุ่ม MPC ประกอบด้วย โรงพยาบาลพญาไท 1 พญาไท 2 และเปาโล พหลโยธิน โดยนำจุดเด่นความเชี่ยวชาญของแต่ละโรงพยาบาล อาทิ กลุ่มโรคซับซ้อน เวชศาสตร์การดูแลสุขภาพ ศัลยกรรม อื่นๆ มาให้บริการผู้ป่วยครอบคลุมทั้งหมดทั้งกลุ่มคนไข้ในต่างจังหวัด และต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในย่านนี้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีโอกาสการเติบโตจากแนวรถไฟฟ้า BTS และศูนย์กลางขนส่งบางซื่อที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจากทิศทางการเติบโตดังกล่าวโรงพยาบาลจึงเห็นโอกาสพร้อมได้วางแผนภายใน 3 ปีจากนี้จะใช้งบกว่า 1 พันล้านบาทพัฒนาโรงพยาบาล 3 แห่งนี้ให้ดีขึ้น รวมถึงขยายเตียงให้ได้ราว 1,000 เตียงจากปัจจุบัน

        “การมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ผนึกกำลังเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการทำงานทั้งในการรับและส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มโรคซับซ้อนที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ไปจนถึงการผนึกกำลังแพทย์เฉพาะทางที่หลากหลาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เสริมการเรียนรู้ด้านการแพทย์ และการทำวิจัยเพื่อประโยชน์ผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มคนไข้ทั้งไทยและต่างชาติในย่านนี้ที่มีโอกาสเติบโต”

         นอกจากนี้โรงพยาบาลได้ขยายศูนย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่นปีที่ผ่านมา เปิดคลินิกเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) เพื่อรับเทรนด์ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ และเปิด Line @Chat กับหมอทีมชาติ เปิดศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ศาสตร์ชะลอความเสื่อมของร่างกายแบบองค์รวม และมีแผนที่จะเปิดศูนย์รักษาภูมิแพ้ เพื่อวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยกลุ่มภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

พญาไท2ทุ่มพันล้าน จับคนไข้แนวรถไฟฟ้า

น.พ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์

           รวมทั้งขยายบริการสู่กลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการตรวจประเมินความเสี่ยงของโรคก่อนป่วย ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงของโรคแบบเจาะลึก เช่นการตรวจ Saline bubble test หรือ นวัตกรรมการตรวจค่า Urine CTX-II ตรวจหาความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อการรักษาทันเวลาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัดข้อเข่าในอนาคต

            ปัจจุบันตัวเลขการขยายตัวของโรงพยาบาลค่อนข้างจะสอดคล้องกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็จะได้รับผลกระทบ โดยผู้มีระดับรายได้ปานกลางขึ้นไป ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของโรงพยาบาลมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านการรักษา ตลอดจนมีการหันไปใช้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้นจึงยังคงทำให้โรงพยาบาลรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของรายรับไว้ได้ คาดการณ์ว่าจำนวนของผู้ใช้บริการในปีนี้จะเพิ่มเป็น 3.84 แสนคน

พญาไท2ทุ่มพันล้าน จับคนไข้แนวรถไฟฟ้า

             ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยที่เข้ามาทำการรักษากับศูนย์เฉพาะทาง ได้แก่ ศูนย์สุขภาพสตรี 30% ศูนย์สุขภาพเด็ก 20% สถาบันกระดูกและข้อ 15% และ อื่นๆ 35% โดยมีสัดส่วนผู้ป่วยไทย 80% และต่างชาติ 20% ซึ่งกัมพูชาครองส่วนแบ่งสูงสุดของผู้ป่วยต่างชาติ 35% 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3493 ระหว่างวันที่ 4 - 7 สิงหาคม 2562