‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ไทย เปิดเผยข้อมูลต่อสังคมตํ่า

06 ส.ค. 2562 | 06:25 น.

ชี้เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกเข้าสู่การพัฒนายั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-อ็อกแฟม ผลักดันศูนย์การค้าเร่งสร้างนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า หลังพบค้าปลีกหลายแห่งยังขาดการให้ข้อมูลเชิงสาธารณะ

ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีสัดส่วนตลาดราว 16% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ และมีกำลังการผลิตสูง มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ทั้งยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านสาขาในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ยังพุ่งเป้าไปที่เรื่องของผลประกอบการ หรือรายได้เป็นหลัก แต่อาจจะลืมไป การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จการมุ่งที่กำไรอย่างเดียวคงไม่พอ

นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ผ่านมาจากการสำรวจข้อมูลพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยยังขาดการเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพื่อรับประกันว่าของที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเอาเปรียบ ซึ่งในความเป็นจริงซูเปอร์มาร์เก็ตไทยควรเปิดเผยนโยบายสำหรับคู่ค้า ส่งเสริมคู่ค้าไม่ให้เอารัดเอาเปรียบคนต้นทาง แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเพื่อรับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ ตลอดจนให้การรับรองมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงานและสิทธิสตรี เพื่อร่วมสร้างเส้นทางอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ไทย เปิดเผยข้อมูลต่อสังคมตํ่า

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ

“ที่ผ่านมามีหลักฐานว่าบริษัทจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงละเลยที่จะตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม และอื่นๆ ขณะเดียวกันจากการประเมินพิจารณาจากนโยบายของบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทแม่ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะซึ่งคนทั่วไปสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในภาพรวมยังเปิดเผยนโยบายทางสังคมและข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนค่อนข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลสำคัญ หรือที่มาของอาหาร ขณะที่ในแง่ของผู้ผลิตจะสามารถผลิตอาหารได้มีมาตรฐานสากล”

‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ไทย เปิดเผยข้อมูลต่อสังคมตํ่า

อีกทั้งพบว่าธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลจากในปี 2559 ซูเปอร์มาร์เก็ตเอกชนรายใหญ่ที่สุดของโลก 8 รายมีรายได้กว่า 33 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรถึง 7.29 แสนล้านบาท และเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 4.97 แสนล้านบาท สำหรับประเทศไทย ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนราว 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงที่สุด 3 แห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 5 แสนล้านบาท

ขณะที่ด้านผลตอบแทนจากราคาของสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคจ่ายกลับกระจุกตัว ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า 30% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่ายตกอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ต และอีกกว่า 20% ตกอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร และแรงงานในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลประโยชน์รวมกันไม่ถึง 15% ของมูลค่าสินค้าที่จำหน่าย โดยในบางกรณีเหลือแค่ 5% เท่านั้น

สำหรับโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก เป็นงานรณรงค์ร่วมโดยเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การ อ็อกแฟมในประเทศไทย ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้ระบบอาหารของไทยเป็นธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับความสนับสนุนจากโครงการ SWITCH Asia โดยสหภาพยุโรป 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3493 ระหว่างวันที่ 4 - 7 สิงหาคม 2562