อุตฯยานยนต์ลดคน-คาด 5 ปีไม่ปรับตัวตกงานเกลื่อน

03 ส.ค. 2562 | 11:10 น.

ค่ายรถเร่งคุมต้นทุนหลังค่าแรงพุ่ง สวนทางเทคโนโลยียุค 4.0 ราคาถูกลงฝั่งสำนักงานใหญ่เริ่มลดคนและปรับฟังก์ชันการทำงานใหม่ ส่วนในสายการผลิตจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์-ระบบออโตเมชัน “โตโยต้า”ยันไม่มีแผนให้ออกแต่ไม่รับคนเพิ่ม ด้านนายกสมาคมซับคอนแท็กต์ คาดอีก 5 ปี แรงงานหายไปจากอุตสาหกรรมยานยนต์ 30%

ภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ของไทยตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 เติบโต 0.89% คิดเป็นจำนวน 1,065,945 คัน และยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโต 7.1 % หรือจำนวน 523,770 คัน เรียกว่าทิศทางดูสดใส อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูสัญญาณจากบริษัทผู้ผลิตหลายค่ายกลับพบว่าเริ่มมีการปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก บางค่ายเปิดโครง การสมัครใจลาออก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการรีดไขมันหรือกระชับองค์กรให้มีความคล่องตัวพร้อมลดต้นทุนด้านแรงงานในระยะยาว

อย่างค่ายรถที่มีการปรับโครงสร้างในช่วงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ฟอร์ด ประเทศไทยสำนักงานใหญ่ ให้พนักงานบางส่วนออกจากงานปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งพนักงานที่โดนให้ออกหลายคนถูกแจ้งล่วงหน้าไม่ถึง 2 เดือน ส่วนโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (เอเอที-ผลิตรถยนต์มาสด้า-ฟอร์ด) และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เปิดโครงการเออร์ลีรีไทร์ 

 

อุตฯยานยนต์ลดคน-คาด 5 ปีไม่ปรับตัวตกงานเกลื่อน

 

สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติคือเป็นพนักงานประจำอายุ 45 ปีบริบูรณ์ถึง 54 ปีและอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนพนักงานที่เตรียมเกษียณอายุในปี 2562 ไม่มีสิทธิ์ โดยพนักงานที่อายุงาน 10-14 ปีจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 17 เดือน และอายุงาน 15-19 ปีชดเชยสูงสุด 18 เดือน อายุงาน 20-24 ปีชดเชยสูงสุด 23.34 เดือน ส่วนอายุงาน 25 ปีขึ้นไปรับเงินชดเชยสูงสุด 27.34 เดือน อย่างไรก็ดีเมื่อสิ้นสุดโครงการพบว่าจำนวนพนักงานที่ต้องการเออร์ลี่รีไทร์ ยังไม่ได้ตามเป้าที่บริษัทวางไว้

ด้านนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น โดยซีอีโอ “ฮิโรโตะ ไซคาวะ” แถลงในงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีงบ ประมาณ 2562 ว่าจำเป็นต้องลดพนักงานในเครือข่ายของนิสสันทั่วโลก 12,500 คน ภายในปี 2565 แม้ไม่ได้ระบุภูมิภาค หรือจำนวนในประเทศ แต่แหล่งข่าวยืนยันว่าการลดคนในแผนนี้ส่วนมากเป็นพนักงานนอกประเทศญี่ปุ่น

ส่วนตัวแทนสหภาพแรงงานของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ไม่คิดว่านโย-บายระดับโลกของนิสสันที่เตรียมลดพนักงานทั่วโลกจะกระทบกับแรงงานในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการยังดีอยู่ ขณะเดียวกันช่วงหลายปีหลัง บริษัทได้เปิดโครงการสมัครใจลาออกสำหรับผู้สูงอายุอยู่เป็นระยะอยู่แล้ว

ส่วนพี่ใหญ่ “โตโยต้า” ยังยาหอมประเทศไทย โดยนายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด(ทีเอ็มที) เปิดเผยว่า ในกรณีที่มีกระแสข่าวการปรับลดคนของค่ายผู้ผลิตรถยนต์บางค่าย สำหรับโตโยต้าเมื่อดูจากยอดผลิตที่ได้วางไว้ จะเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องลด ประกอบกับนโยบายของโตโยต้าไม่มีแผนงานเรื่องการเลย์ออฟพนักงาน

“เราไม่มีแผนเรื่องลดคน ดังนั้นไม่ต้องกังวล เช่นเดียวกับเรื่องโบนัสต่างๆเรายังคงรักษาระดับที่เคยจ่ายให้กับพนักงาน ให้พึงพอใจมากที่สุด”นายฉัตรชัย กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจาก โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทและฝ่ายทรัพยากรบุคคลเตรียมปรับโครงสร้างการทำงานให้กระชับและมีประสิทธิภาพ พร้อมนำเทคโนโลยีซึ่งหมายรวมถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์มาใช้งานมากขึ้น

“ตอนนี้ทีเอ็มทีไม่รับคนเพิ่ม และจะใช้ศักยภาพของพนักงานประจำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนหนึ่งเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความทันสมัย แม่นยำและตรวจสอบได้ ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆต้องปรับตัวเช่นกัน และมองว่ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือ แรงงานที่มีขึ้นตอนการทำงานซํ้าๆและเป็นรูปแบบประจำ เช่นเสมียน หรือพนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว

 

อุตฯยานยนต์ลดคน-คาด 5 ปีไม่ปรับตัวตกงานเกลื่อน

 

การปรับโครงสร้างต่างๆที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์จากฟากฝั่งผู้ผลิต ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน ,อุปกรณ์เกี่ยวเนื่องให้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยน แปลงที่จะเกิดขึ้น โดยมีการประเมินกันว่า จะมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในระบบการผลิต ไม่เพียงเท่านั้นทิศทางยานยนต์ยุค 4.0 ที่จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ระบบออโตเมชันต่างๆและการขยับเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่มีผลทำให้กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และแรงงานในไทยต้องปรับตัวตาม

“หุ่นยนต์ที่มีการนำเข้ามาใช้ในโรงงานมีราคาที่ถูกลง จากเดิม 5 ปีก่อนราคา 1-2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 แสนบาท และแนวโน้มราคาจะลดลงเรื่อยๆคาดว่า 5 ปีข้างหน้าราคาจะอยู่ที่ 4-6 แสนบาท โดยข้อดีของหุ่นยนต์คือทำงานได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเข้ากะเหมือนแรงงานคน ไม่ติดปัญหากฎหมายแรงงาน ค่าเมนเทนแนนซ์ไม่แพง การทำงานไม่มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมรับช่วงการผลิตไทย กล่าว

อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นทำให้หุ่นยนต์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น คือ ค่าแรงขั้นตํ่า ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ที่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ตํ่า

“แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเสี่ยงคือค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย,เมียนมา, เวียดนาม หรืออีกนัยหนึ่ง ต่อให้ค่าแรงไม่ขึ้น แต่แรงงานก็อาจจะตกงานเพราะการเข้าสู่ยุค 4.0 ที่เหล่าผู้ประกอบการจะนำออโตเมชัน, หุ่นยนต์ เข้ามาใช้มากขึ้น”

นายกสมาคมส่งเสริมรับช่วงการผลิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีดิสรัปชันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แต่เดิมเคยประเมินกันไว้ว่าอีก 10 ปีถึงเห็นภาพ แต่ตอนนี้คาดว่าภายใน 5 ปีจะเริ่มเห็นชัด หรือขยับมาเร็วขึ้น หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว อาจทำให้แรงงานซับคอนแท็กต์หรือผู้ผลิตในอุตสาหกรรมหายไปกว่า 20-30%

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,493 วันที่ 4 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562