ดีเดย์ 14 ส.ค.ถกกรอ.พาณิชย์ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีจีน 3 แสนล.ดอลล์

02 ส.ค. 2562 | 06:45 น.

พาณิชย์ชี้“ทรัมป์”สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน 3 แสนล้านดอลล์ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ค้าโลกยิ่งหดตัว รับกระทบไทยแน่ แต่อีกด้านมองเป็นโอกาสส่งออกสินค้าไทยกว่า 725 รายการแทนสินค้าจีนได้เพิ่ม ดีเดย์ 14 ส.ค.ประชุม กรอ.พาณิชย์ ถกแผนรับมือเชิงรุก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์  เผยถึงกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตา 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ว่า  สินค้าล็อตใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีครั้งนี้ มีจำนวน 3,812 รายการ โดย มี 7 รายการที่ซ้ำกับมาตรการขึ้นภาษีรอบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่งในกลุ่มล่าสุดเป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภค และบริโภค อาทิ อาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม) เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยกเว้น สินค้าบางรายการ อาทิ ยา และแร่ Rare Earth

ดีเดย์ 14 ส.ค.ถกกรอ.พาณิชย์ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีจีน 3 แสนล.ดอลล์

การขึ้นภาษีครั้งนี้ สหรัฐฯ อ้างว่าจีนไม่ทำตามข้อตกลงที่เคยได้ให้ไว้ คือไม่ซื้อสินค้าเกษตร (ถั่วเหลือง และอื่นๆ) และยังขายยา Fentanyl (ยาระงับปวด) ไปยังสหรัฐฯ บวกกับการเจรจาครั้งที่ 12 ที่กรุงปักกิ่ง ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร  ทั้งนี้ นาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) และนาย Steven Mnuchin รัฐมนตรีการคลังของสหรัฐฯ มีท่าทีคัดค้านการขึ้นภาษีครั้งนี้ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ - จีน มีกำหนดการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกครั้งในเดือนกันยายน 2562

สำหรับผลกระทบกับประเทศไทยนั้น มองว่า หาหกทรัมป์ ยังคงใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกดดันจีน โดยเฉพาะให้นำเข้าสินค้าเกษตรซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของสหรัฐฯ ในแถบ Midwest ขณะที่จีนมีท่าทีดึงการเจรจาออกไป โดยอาจรอดูแนวโน้มผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกกายน 2562 นี้   ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบไทยเพียงประเทศเดียว แต่ส่งผลไปทั่วโลก อาจทำให้ปริมาณการค้าโลกหดตัว รวมทั้งส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และราคาน้ำมัน ที่มีการตอบสนองทันทีหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตประกาศการขึ้นภาษีตอบโต้ครั้งล่าสุตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ร่วงลงกว่า 200 จุด เช่นเดียวกับราคาน้ำมัน โดยก่อนหน้านี้ IMF ได้ประกาศปรับลดคาดการณ์ GDP และปริมาณการค้าโลก (สินค้าและบริการ) ปี 2019 เหลือ 3.2% และ 2.5% ตามลำดับ

ดีเดย์ 14 ส.ค.ถกกรอ.พาณิชย์ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีจีน 3 แสนล.ดอลล์

โดยหากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีจริง ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไทยและผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานจีน ประเมินว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นสินค้าที่ไทยมีการนำเข้าสุทธิในปี 2561 และ 2562 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิด  

ขณะที่รายการสินค้าที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรอยู่หลายรายการ ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯ กว่า 725 รายการ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้า (RCA) สูง ประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค อาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหาร (เครื่องเทศ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia น้ำตาลอ้อย) น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ (ไข่มุกและนาฬิกา) และของใช้ในบ้าน (เครื่องเซรามิค เครื่องแก้ว)

“การตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเช่นไทย รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์มิได้นิ่งนอนใจ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ. พาณิชย์) ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้จะมีการหารือในประเด็นนี้ด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้ เช่น ทำแผนรุกตลาดในสินค้าศักยภาพลงลึก และเร่งการพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์ (e-commerce) เตรียมข้อมูลเรื่อง non-tariff measures ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ควรเร่งเจรจา เร่งผลักดันการค้าชายแดนที่มีศักยภาพในการขยายตัว”

อย่างไรก็ตามสงครามการค้าครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่สหรัฐฯ และจีนที่เจ็บตัวกัน แต่ผลกระทบกระจายไปทั่วโลก เจ็บตัวกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการค้าโลกที่ยังเปราะบางอยู่ สนค. มองว่าความขัดแย้งของสองประเทศ มีรากเหง้าลึกกว่าเรื่องของการค้า เป็นการแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีและการมีอิทธิพลในทวีปเอเชียด้วย จึงอาจจะเป็นหนังเรื่องยาว ในส่วนของไทยแม้ว่าอาจจะทำให้การส่งออกลดลงบ้างในปีนี้ แต่ท่ามกลางปัญหา ก็ยังเห็นโอกาสอยู่หลายจุด เพราะเศรษฐกิจไทยและการส่งออกไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง สินค้าไทยหลายรายการมีมาตรฐานสูงและมีชื่อเสียงในตลาดโลก เป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลาย ๆ ตลาด แม้ว่าระยะสั้นอาจจะต้องมีผลกระทบแรงต่อการส่งออก แต่มั่นใจว่า ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะรับมือได้อย่างแน่นอน

ดีเดย์ 14 ส.ค.ถกกรอ.พาณิชย์ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีจีน 3 แสนล.ดอลล์

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าจีนไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค ซึ่งช่วงที่ผ่านมายังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติ