Bay ลุยนาโนไฟแนนซ์เต็มสูบ ใจปํ้าลูกค้าผ่อนดีลดดอกเบี้ยให้10%

29 มี.ค. 2559 | 12:30 น.
แบงก์กรุงศรีอยุธยา เตรียมปล่อยกู้ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์เดือนกันยายนนี้ หลังวิจัยตีแตกโจทย์ตลาด-ครบเกณฑ์รับไลเซนส์ 1 ปี ตั้งเป้าปีแรกเจาะตลาดกทม.-ปริมณฑล ยาหอมลูกค้าผ่อนดี ลดดอกเบี้ยให้ 10% พร้อมตั้งกรอบหนี้เสียไม่เกิน 17-18% ของวงเงินปล่อยกู้หลักร้อยล้านบาท ชี้ ไม่หวั่นการแข่งขันระอุ กรณีทางการลดวงเงินทุนจดทะเบียนเหลือ 10 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท เชื่อรายใหม่พื้นที่จำกัด ขณะที่ผู้ประกอบการตบเท้าขอไลเซนส์เพิ่มเป็น 22 รายจากเดิม 14 เหตุทางการหนุนวงนอกเข้าระบบ

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากได้รับการอนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ช่วง 1 ตุลาคม 2558 บริษัทคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากธปท.กำหนดให้ดำเนินกิจการภายใน 1 ปี

โดยช่วงแรกบริษัทได้กำหนดการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายของบริษัทพอสมควร และภายหลังจากทดลองตลาดครบ 1 ปีแรก อาจจะขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ โดยบริษัทตั้งเป้าทดลองตลาดธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในช่วง 2 ปี วงเงินเบื้องต้นที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาท

นางสาวณญาณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจำกัดพื้นที่ในช่วงระยะทดลอง 1 ปีแรก อาจจะต้องจำกัดพื้นที่การทำธุรกิจก่อน เพราะหากขยายพื้นที่มากเกินไปจะไม่สามารถควบคุมต้นทุนในด้านค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะต้นทุนในเรื่องของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ พนักงานขาย และทีมติดตามหนี้ (Collection) และต้นทุนในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะไม่สามารถครอบคลุมอัตราดอกเบี้ยที่คิดอยู่ในระดับ 36%

ดังนั้นบริษัทจะพยายามตัดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออก และพยายามให้ลูกค้ารักษาวินัยทางการเงิน ขณะที่บริษัทจะไม่เพิ่มคนในส่วนของพนักงานเดินเก็บหนี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยที่บริษัทจะนำรายจ่ายที่ลดได้กลับมาสู่ลูกค้า ทั้งนี้ลูกค้ารายใหม่ที่อาจจะยังไม่รู้จักกัน บริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 36% แต่หลังจากนั้นผ่อนชำระแล้ว 3-6 เดือน และเป็นลูกค้าผ่อนดีมีวินัยอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ประมาณ 10% และถ้าผ่อนครบ 1 ปี บริษัทอาจจะให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการผ่อนชำระสินค้า 0% เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าผ่อนชำระตรงและมีวินัยทางการเงิน

ในส่วนของกรอบหนี้เอ็นพีแอลบริษัทอาจจะตั้งไว้ค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณ 17-18% เนื่องจากมีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน อาจจะมีลูกค้าบางกลุ่มที่มีกำลังผ่อนชำระไม่ไหวหลังจากปล่อยสินเชื่อไป ประกอบกับบริษัทไม่สามารถรู้รายได้ที่แน่นอนได้ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานทางการเงินชัดเจน รวมถึงไม่สามารถเช็กประวัติผ่านบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้ ซึ่งจะมีแต่พนักงานเดินสำรวจข้อมูลของลูกค้ากลุ่มนี้เท่านั้น แต่บริษัทคาดว่ารายได้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยโดยเฉลี่ยจะมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อราย และปัจจัยเหล่านี้เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เอ็นพีแอลได้ ซึ่งวงเงินที่บริษัทอนุมัติจะเป็นไปตามเกณฑ์ของธปท.รายละไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 36%

ส่วนกรณีการปรับลดเงินทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จากเดิมอยู่ที่ 50 ล้านบาท เหลือเพียง 10 ล้านบาท มองว่า ทางการอาจจะต้องการให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จึงลดวงเงินทุนจดทะเบียนให้น้อยลง และเชื่อว่ากลุ่มที่เข้ามาใหม่ดังกล่าวนี้ อาจจะทำธุรกิจเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ไม่ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ เพราะตลาดนาโนไฟแนนซ์แม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัวได้มาก แต่ความเสี่ยงมีมากเช่นกัน

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการที่จะเข้ามาใหม่อาจจะต้องศึกษาตลาดมาก่อนพอสมควร เพราะหากทำไม่ระมัดระวังก็อาจเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจได้ และเชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการให้ความสนใจธุรกิจนาโนไฟแนนซ์อีกจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากจำนวนไลเซนส์ที่อนุมัติจากเดิมมีเพียง 14 ราย ปัจจุบันเพิ่มเป็น 22 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนการแข่งขันและกลุ่มเป้าหมาย อาจจะขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ประกอบการแต่ละราย แต่บริษัทจะไม่เน้นขยายแบบก้าวกระโดด เพราะเป็นธุรกิจที่ทำค่อนข้างยาก และไม่มีกำไรมากนัก จึงต้องระมัดระวัง

หลังจากเราได้รับการอนุมัติไลเซนส์ เราได้ทำการสำรวจตลาดในการจัดทำรีเสิร์ซในกลุ่มเป้าหมาย 400 คน พบว่า มีลูกค้าที่ให้ความสนใจและสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 66-70% จากคนทั้งหมด แต่คาดว่าช่วงแรกเราจะทำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อนทดลองตลาดให้เสถียรภาพก่อนค่อยขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเราไม่บุ่มบ่าม เพราะจะเห็นว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขอไลเซนส์หลายราย แต่ยอดการปล่อยสินเชื่อไม่สูงมากนัก ซึ่งธปท.ได้ถามอยู่เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าตลาดนาโนไฟแนนซ์ไม่ง่าย ต้องทำอย่างระมัดระวัง และควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ เราจึงขอลองตลาดก่อนช่วงแรก" นางสาวณญาณี กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559