ขอนแก่นร่วมมือซีพีเอฟ เดินหน้าอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ASF

01 ส.ค. 2562 | 10:53 น.

 

กรมปศุสัตว์จับมือภาคเอกชนส่งเสริมความรู้เรื่อง ASF ในสุกร ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยในจังหวัดขอนแก่น เพื่อป้องกันโรคและเฝ้าระวัง ช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายหากมีการแพร่ระบาดของโรค ขณะที่ ซีพีเอฟ เตรียมซ้อมแผนรับมือเข้มแข็ง

 

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม (2 ส.ค.) เรื่อง “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกว่า 260 คน เป็นจังหวัดที่ 10 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบาดให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

ขอนแก่นร่วมมือซีพีเอฟ เดินหน้าอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ASF
ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตามแผนการเตรียมความพร้อมและรับมือโรค ASF ในสุกร ที่เป็นวาระแห่งชาตินั้น จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญและประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดขอนแก่น รวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

“การจัดอบรมให้ความรู้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยครั้งนี้ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวแก่เกษตรกรในภาคอีสานได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคและมีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตาช่วยเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพราะเกษตรกรรายย่อยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด” ดร.สมศักดิ์กล่าว

ขอนแก่นร่วมมือซีพีเอฟ เดินหน้าอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ASF

น.สพ.ชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เข้มงวดการเฝ้าระวังป้องกันโรค และเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของ ASF ในสุกร ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นได้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันโรค และจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฎิบัติการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค พร้อมกันนี้ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือกับโรค ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการตรวจสอบระบบการป้องกันโรคของฟาร์มโดยบริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลท์ (ประเทศไทย)

“โรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน หากพบสุกรแสดงอาการป่วยคล้ายโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดขอนแก่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

ขอนแก่นร่วมมือซีพีเอฟ เดินหน้าอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ASF

น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับทำการเกษตร และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันโรคดังกล่าวไม่มากพอ ประกอบกับไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ หรือไม่ได้รับข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ หรือเกษตรกรรายย่อยที่มีความรู้เรื่องการป้องกันโรค แต่ก็ไม่มีแหล่งซื้อหายาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ บริษัทฯ จึงได้แจกน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมกับการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคแก่เกษตรกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่

น.สพ.คุณวุฒิ ย้ำว่า การอบรมในหลายครั้งที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตระหนักถึงความสำคัญและตื่นตัวกับโรคนี้เป็นอย่างมาก เป็นผลดีทั้งในด้านการให้ความรู้เพื่อช่วยกันป้องกันโรค ASF และยังช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญการเลี้ยง เช่น จำนวนตัว พิกัด ของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานในการป้องกันและเตรียมพร้อมในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

ด้าน น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า แม้หมูของบริษัทจะอยู่ในฟาร์มระบบปิดและมีระบบการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดจะไม่พบการระบาดของ ASF แต่บริษัทก็ยังยกระดับการป้องกันฟาร์มของบริษัทให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัททั้ง 100% และเพิ่มการซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นๆอยู่ในรัศมีใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมหากพบการระบาด

ขอนแก่นร่วมมือซีพีเอฟ เดินหน้าอบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ASF

ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีการแบ่งฟาร์มมาตรฐานของบริษัทและเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ฟาร์มที่ไม่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กม. 2.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง หรือฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 1-5 กม. 3.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ฟาร์มของบริษัทที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมีน้อยกว่า 1 กม.

การซักซ้อมแผนฉุกเฉินดังกล่าวทำในกลุ่มฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดโรคภายในฟาร์ม ฝึกซ้อมขั้นตอนการจัดการโรค ASF อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เช่น การสวมชุดของเจ้าหน้าที่ที่รัดกุม การเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นโรคโดยป้องกันสารคัดหลั่งจากตัวสุกรไม่ให้ตกตามรายทางภายในฟาร์ม การจัดการเส้นทางขนย้ายสัตว์ไปยังบ่อฝัง การเผาทำลายเสื้อผ้าของเจ้าหน้าที่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการจัดเตรียมที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เห็นภาพจริงในการปฏิบัติ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือ ASF ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ