ปธ.กสม.โต้"อังคณา-เตือนใจ"ปัดรวบอำนาจ-ห้ามให้ข่าว

31 ก.ค. 2562 | 10:30 น.

ปธ.กสม.โต้ ปัดรวบอำนาจ-ห้ามให้ข่าว จนเป็นเหตุให้ “อังคณา-เตือนใจ”ไขก๊อก ยัน 3 กสม.ที่เหลือพร้อมทำหน้าที่ต่อ เตรียมส่งหนังสือด่วนถึงปธ.ศาลฎีกา-ปธ.ศาลปค.คัดเลือกกสม.ชั่วคราวมาทำหน้าที่ เหน็บ 2 กสม.บรรลุวัตถุประสงค์ได้เซ็ตซีโร่สมใจ

  ปธ.กสม.โต้"อังคณา-เตือนใจ"ปัดรวบอำนาจ-ห้ามให้ข่าว

วันนี้ ( 31 กรกฎาคม 2562) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แถลงข่าวหลังนางอังคณา นีละไพจิตร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกสม.ว่า ได้รับหนังสือลาออกจากทั้งสองคนในช่วงเช้าที่ผ่านมาและจะทำหนังสือด่วนที่สุดในวันนี้ถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ทำการคัดเลือกกสม.ขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวระหว่างรอการสรรหากสม.ชุดใหม่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนักก็ได้คนมาทำหน้าที่กสม.ชั่วคราว ซึ่งเดิมองค์กรกสม.มีจำนวน 7 คน ในจำนวนนี้ 1 คนทำหน้าที่ประธาน ซึ่งก่อนรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน มี กสม. 1คนลาออก และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ก็มีกสม.อีก 1 ลาออกไปทำหน้าที่ในองค์กรอื่น จนล่าสุดมี กสม. 2 คนยื่นหนังสือขอลาออก ทำให้ขณะนี้เหลือกสม.ทำหน้าที่อยู่ 3 คน

นายวัส กล่าวว่า การทำหน้าที่ของกสม.ที่ผ่านมาต้องทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกลุ่มที่ต้องมีการให้ความเห็นและเมื่อความเห็นต่างก็ต้องลงมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งหลายครั้งตนเองมักเป็นเสียงข้างน้อยโดยเฉพาะการประชุม 2 ครั้งหลังสุดแต่ตนก็เคารพเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ดังนั้น ข้อความที่ระบุว่า ประธานกสม.รวบอำนาจไว้คนเดียวไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ของกสม.มี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. เรื่องการคุ้มครองสิทธิที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน แม้ไม่มีผู้ร้องเรียนก็สามารถหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบเองได้ รวมทั้งกรณีที่กสม.ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม การที่ปรากฏว่า ห้ามกสม.รับคำร้องจากชาวบ้านในข้อเท็จจริงไม่เคยมีการห้ามแต่เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่จะรับเรื่องร้องเรียน และ2. ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็มีการจัดเวทีให้ความรู้ส่งเสริมประชาชนเข้าใจในเรื่องสิทธิ และส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และก่อนชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่มีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่ 90% เมื่อเข้ามาในเดือนพฤศจิกายน 2558 ทำงานมา 3 ปีเศษ เร่งดำเนินการเรื่องร้องเรียนค้าง ปรับระบบการทำงานทำให้เรื่องร้องเรียนเสร็จไปถึง 81% เหลือค้างไม่ถึง 20 % โดยเรื่องที่เหลืออยู่ในกระบวนการกลั่นกรอง

 “ตอนที่มีกสม.เหลืออยู่ 5 คนเราทำงานด้วยดีมาตลอด ความเห็นไม่ตรงกันก็ใช้วิธีการลงมติเพื่อหาข้อยุติซึ่งรายงานการตรวจสอบที่ออกไปก็เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ที่ประเทศต่างๆ ชูประเทศไทยเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะการที่จะมาดูงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เนปาล ยอมรับว่า เสียดายกับสิ่งที่เกิดขึ้น การทำงานมีความเห็นแตกต่างกันได้แต่ผลงานจะเป็นที่ยืนยันซึ่งรายงานที่กสม.ออกไปมีข้อโต้แย้งน้อยมาก

นายวัส ประธานกสม. ยังกล่าวอีกว่า หลังมีกสม.ลาออกตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกสม.2560 กำหนดให้กสม.ที่เหลือทำหน้าที่แต่เมื่อขณะนี้เหลือเพียง 3 คนทำให้องค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งในแง่ขององค์กรกลุ่มทำให้ไม่สามารถประชุมเพื่อออกรายงานของกสม.ได้ แต่ทั้ง 3 คนจะยังคงทำหน้าที่ต่อไป และถ้าดูตัวเลขกสม.ที่ลาออกไปแล้ว4 คน อาจจะเหมือนมาก แต่ก็เชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาในการทำงานและมองว่า เป็นปัญหาเฉพาะตัว

 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ตอนที่พ.ร.ป.ว่าด้วยกสม. 2560 ยังเป็นร่างกฎหมาย ทางกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งมาให้ กสม.พิจารณาเนื้อหาที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภาพรวมของการทำงาน ก็มี กสม. 2 คนเห็นด้วย รวมถึงเห็นด้วยกับประเด็นการเซ็ตซีโร่กสม.ชุดนี้ ทั้งที่ กสม.อีก 4 คนไม่เห็นด้วย

ฉะนั้น กสม.ที่เห็นด้วยกับการเซ็ตโร่กสม.ชุดนี้ก็ต้องถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์และคิดว่าจะไม่เอาองค์กรตัวเองไว้แล้ว จึงไม่แน่ใจว่า การลาออกของ 2 กสม.ที่สุดเป็นการสานต่อปณิธานของเขาหรือไม่ แต่จะมีเหตุผลนี้หรือไม่ก็ต้องพิจารณากันต่อไป

ส่วนที่มีการอ้างว่า กสม.มีวางแนวปฏิบัติในเรื่องการให้ข่าวเคร่งครัดนั้น นายวัส ยืนยันว่าไม่ได้มีการห้ามเพราะไม่มีอำนาจจะไปห้ามเป็นการส่วนตัว แต่การให้ข่าวขององค์กรกลุ่มต้องมีมาตรฐานและมีระเบียบซึ่งที่ผ่านมา กสม.ออกแนวปฏิบัติในการให้ข่าวโดยกำหนดว่า ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหรือคนที่ได้รับมอบหมาย ส่วนที่เป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของกสม.แต่ละคนก็สามารถให้ข่าวได้ แต่การให้ข่าวเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและข้อเท็จจริงยังไม่ได้สรุปก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องหลีกเลี่ยง

ปธ.กสม.โต้"อังคณา-เตือนใจ"ปัดรวบอำนาจ-ห้ามให้ข่าว

ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิ์ ที่ได้มาร่วมฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ส่วนตัวได้พบกับหนึ่งในกสม.ทื่ยื่นลาออกและได้พยายามยับยั้งขอให้ทำหน้าที่ต่อไป เข้าใจว่า ทั้งสองคนอาจคุ้นเคยกับการทำงานแบบองค์กรเดี่ยว แต่เมื่อมาทำงานแบบองค์กรกลุ่มอาจจะอึดอัด และเชื่อว่าหลายคนที่ทราบข่าวการลาออกคงรู้สึกตกใจแต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของทั้งสองคน แต่สำหรับตัวเองจะไม่ลาออก จะอดทนทำหน้าที่ เพราะถือว่า อาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้แล้วก็ต้องเดินหน้าสานต่อและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนต่อไป 

 “เราควรต้องอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่อำนาจ ดิฉันกับท่านประธานจะอยู่ทำงาน ถึงเราจะอยู่กัน 3 คนก็ยังสามารถดูแลสิทธิมนุษยชนของประชาชน แม้จะมีข้อจำกัดในบางเรื่องก็หวังว่าทางออกที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะทำให้เราได้กสม.ชั่วคราวเข้ามาช่วยทำงานเพื่อช่วยออกรายงานการประชุมในการเสนอต่อครม.ได้” นางประกายรัตน์ กล่าว และระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นหรือทราบว่านางฉัตรสุดาจะมีความเห็นอย่างไรต่อการที่กสม. 2 คนลาออกในครั้งนี้

ทั้งนี้ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง หนึ่งในกรรมการสิทธิ์ที่เหลืออยู่ มีรายงานว่า ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศจึงไม่ได้มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้