ธปท.เคาะเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคลปลายปี

01 ส.ค. 2562 | 23:20 น.

 

แบงก์ชาติจ่อเคาะสูตรคำนวณ DSR ปลายปีนี้ ยันใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันลดความเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ด้านธนาคารพาณิชย์-นอนแบงก์ขานรับ ช่วยยกระดับการชำระหนี้กลุ่มเสี่ยง ทีเอ็มบีเตรียมส่งรายงานสูตรใหม่ไตรมาส 3 เชื่อธปท.ดูข้อมูลก่อนเลือกเกณฑ์กำกับ ลั่นไม่ใช้สูตร Hard DSR

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.จะกำหนดมาตรการคำนวณสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้(DSR)ที่เป็นมาตรฐานกลางภายในปลายปีนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ใช้คำนวณ หลังจากได้ตกลงร่วมกันกับสมาคมธนาคารไทย(TBA)และธนาคารพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นตัวติดตาม DSR และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและยังเป็นการสร้างความชัดเจนด้านการนับรายได้และภาระหนี้สินด้วยว่า อะไรบ้างที่จะถูกนับรวมเป็นรายได้เป็นรายจ่ายต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับคนที่มีรายได้ไม่สูงนักให้สามารถเข้าสู่สินเชื่อได้ ดังนั้นจึงต้องการให้ธนาคารให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้มากขึ้น

ธปท.เคาะเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคลปลายปี

รณดล นุ่มนนท์

 

การกำหนดมาตรฐาน DSR  เพราะธปท.ต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ จากความสามารถในการชำระหนี้และรายได้สุทธิของผู้กู้เป็นหลัก เพื่อให้ผู้กู้มีเงินเหลือในการดำรงชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางไม่ต้องการให้มีหนี้สินในระยะยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการออม ขณะที่ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในระยะข้างหน้า ควรต้องปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน

เราจะกำหนดเป็นมาตรฐานให้ธนาคารพาณิชย์ใช้คำนวณและใช้ติดตามการปล่อยสินเชื่อด้วย เพราะที่ผ่านมา แม้สินเชื่อเหมือนกัน แต่การคำนวณไม่เหมือนกัน ทำให้เปรียบเทียบยาก จึงกำหนดร่วมกัน ปลายปีนี้จะเริ่มใช้ ซึ่งเอ็นพีแอลก็ควรจะลดลงด้วย เพราะโครงสร้างความสามารถการชำระหนี้จะดีขึ้น ซึ่่งเป็นสิ่งที่ธปท.อยากเห็น

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธปท.ได้รวบรวมข้อมูลและผลกระทบต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อนำไปกำหนดแนวทางการออกเกณฑ์ DSR ซึ่งในมุมธนาคารอาจได้รับผลกระทบบ้าง  แต่หากมองอีกด้านถือว่า เป็นประโยชน์ เพราะทำให้ฐานะและความมั่นคงของธนาคารดีขึ้นได้ หากดูความเสี่ยงที่เหมาะสมและจะดีขึ้นในระยะยาว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ธนาคารได้เริ่มปรับปรุงรายงานให้เป็นเกณฑ์ DSR ตามนิยามใหม่ของธปท. โดยจะเริ่มส่งข้อมูลให้ธปท.ดูงวดแรกภายในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่า ช่วงแรกธปท.ต้องการ Data เพื่อดูข้อมูลว่า เป็นอย่างไรและค่อยๆ ศึกษา เพื่อประเมินผล

ธปท.เคาะเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคลปลายปี

อย่างไรก็ตาม มองว่า DSR ที่ธปท.จะออกมานั้นจะเป็น Solf DSR เพื่อยกระดับการชำระหนี้ในกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งไม่น่าจะเป็นการกำหนดแบบ Hard DSR ที่กำหนดสัดส่วน DSR ออกมา เช่น จำกัดที่ 60% เนื่องจากการกำหนดในลักษณะ Hard DSR จะต้องมีรายได้กลางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นจึงออกมาเป็นสูตรคำนวณให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น รายได้จากค่าคอมมิสชันจะคิดอย่างไร หรือกรณีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะคำนวณหรือคูณอัตราส่วนกำไร (Margin) อย่างไร

 

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การกำหนด DSR เพราะธปท.มองในมิติเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะการสร้างวินัยทางการเงินควบคู่กับการดูภาระหนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในแง่วิธีปฏิบัติยอมรับว่า ต้องมีปัญหาและผลกระทบเพราะดูว่าตึงหรือหย่อนไปและจะสามารถทำได้หรือไม่ เป็นหลักการที่ต้องมีการถกเถียงกันเป็นเรื่องปกติ

ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ มีสูตรคำนวณ DSR อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสูตรคำนวณภาระหนี้ และจะมีเงินเหลือเท่าไรเพื่อการบริโภค รวมถึงการให้ความรู้ควบคู่กับลูกค้าด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่่งเราเองก็ให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวไปทั้งอุตสาหกรรม

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์)กล่าวว่า บริษัทพูดคุยกับธปท.บางส่วนแล้ว ซึ่งบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแล หากบังคับใช้ก็ต้องปฏิบัติตามเป็นปกติ เบื้องต้นอาจต้องดูเงื่อนไขรายละเอียดก่อน เชื่อว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทดูเรื่องรายได้และภาระหนี้เป็นปกติ ภายใต้ Payment Ratio เพราะท้ายที่สุดแล้ว การปล่อยสินเชื่อต้องเป็นไปตามเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่ให้วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่าของรายได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ธปท.ออกมาก่อนหน้านี้

นายซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยกล่าวว่า ธนาคารยังไม่รู้นโยบายหรือหลักเกณฑ์กำกับที่ชัดเจน แต่หากธปท.มีนโยบายให้ปฏิบัติก็พร้อมดำเนินการทันที โดยปัจจุบัน ธนาคารมีกระบวนการควบคุมความเสี่ยงค่อนข้างดี โดยดูจากความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ส่งผลให้เอ็นพีแอลค่อนข้างตํ่ากว่าระบบ

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,492 วันที่ 1-3 สิงหาคม 2562

ธปท.เคาะเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคลปลายปี