SCB บริหารเอ็นพีแอลเชิงรุก

29 ก.ค. 2562 | 04:04 น.

ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าบริหารหนี้เสียค้างสะสมเชิงรุก 2.6 หมื่นล้านบาท หรือ 7.8% จับสัญญาณลูกค้าก่อนเป็นเอ็นพีแอล ส่งทีมปรับโครงสร้างหนี้เกาะติดลูกค้าแต่ละกลุ่ม แนะปรับตัวกระจายสินค้า-คู่ค้าลดความเสี่ยงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ กดเอนพีแอลเกิดใหม่ต่ำ 1% ระบุทั้งปีไม่เกิน 8% ประเมินครึ่งปีหลังยอดปล่อยกู้เอสเอ็มอีทะลักกว่า 7 หมื่นล้านบาท ดันทั้งปีโตตามเป้า 8% หรือ 1.3 แสนล้านบาท ชี้ ธุรกิจซื้อมาขายไป-โรงแรมยังโตดี

 

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ในปีนี้ธนาคารมีแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในเชิงรุกมากขึ้น แม้ว่าหนี้เอ็นพีแอลเกิดใหม่ (New NPL) ค่อนข้างทำได้ดีมีไม่ถึง 1% แต่จะเห็นหนี้เอ็นพีแอลค้างเก่าสะสมอยู่ที่ 7.8% หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะเข้าไปบริหารจัดการมากขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการเอ็นพีแอลสะสมอาจจะไม่ได้ลดลงเป็นนัยสำคัญ แต่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพมากขึ้น โดยทั้งปีคาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอลจะควบคุมไม่ให้เกิด 8% ภายใต้ทิศทางการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังจะมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ วิธีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลนั้น ธนาคารจะเข้าไปเริ่มดูแลลูกค้าตั้งแต่ยังไม่มีสัญญาณเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งจะมีการแบ่งลูกค้าเป็นสีต่างๆ เช่น สีขาว ลูกค้ายังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่ยังไม่ได้ปรับธุรกิจโดยการกระจายลูกค้าหรือคู่ค้า โดยยังคงอิงส่งออกในประเทศเดียว หรือพึงพิงการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวประเทศเดียว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากไม่ปรับตัวในอนาคตอาจจะมีปัญหาได้ ธนาคารจึงจะเข้าไปให้ความรู้ในการทำธุรกิจและกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม หรือกรณีลูกค้าเริ่มส่งสัญญาณใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเห็นได้จากการพิจารณางบการเงินของลูกค้า มีสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ถาวร (Fixed Asset) หรือการเยี่ยมของพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลจากธนาคารมากขึ้น

 

ขณะที่ลูกค้าส่งสัญญาณสีขุ่นๆ เช่น เหลือง ส้ม ธนาคารจะใช้วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนการยืดอายุหนี้ พักชำระหนี้ ลดค่างวดผ่อนชำระ เป็นต้น ส่วนกรณีลูกค้าสีแดงและดำ จะมีทีมปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาดูแล ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นไปตามขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องคดี เป็นต้น

“เอ็นพีแอลที่เกิดจากการปล่อยใหม่มีน้อยมากไม่ถึง 1% เพราะเราคอนโทรลได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเราเอามาอบรมก่อน เพื่อให้เอ็นพีแอลเกิดใหม่ให้อยู่ในระดับที่รับได้ และให้แน่ใจว่าเข้ามาแล้วสามารถปรับตัวได้ และดำเนินธุรกิจไปต่อได้ ไม่ใช่เข้ามาแล้วมีปัญหา ส่วนเอ็นพีแอลค้างเก่าที่มีอยู่ 7.8% เราก็แบ่งลูกค้าเป็นกลุ่มในการบริหารจัดการ ซึ่งเชื่อว่าปัญหาหนี้เสียมีโอกาสลดลงได้ในระยะถัดไป แม้จะไม่ได้ลดลงภายในเร็ววันแต่หนี้เสียจะดีขึ้น