สพฉ.ผนึก สบส สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา

27 ก.ค. 2562 | 03:17 น.

สพฉ.จับมือ สบส ลุยสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงพยาบาลเอกชน ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากอุบัติเหตุรถยนต์ พบเข้าข่ายตามสิทธิ UCEP ทุกประการ “หมอสัญชัย” ระบุเบื้องต้นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และยังไม่ด่วนสรุปผิดถูก จนกว่าจะได้ข้อมูลครบ หากพบโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นข่าวปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยจริง มีความผิดถึงขั้นจำคุกและปรับรวมถึงเพิกถอนใบอนุญาติ

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ  รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและให้เหตุผลกับญาติผู้ป่วยว่าจะต้องวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จึงจะทำการรักษาให้นั้นว่า ก่อนที่จะพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ตนอยากชี้แจงให้ประชาชนทุกคนเข้าใจตรงกันกันก่อนว่านโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP)  นั้นผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าข่ายในการใช้สิทธิ์ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีอาการเกิดขึ้นกะทันหัน เช่น การเกิดอุบัติทางถนน, เส้นเลือดในสมองตีบ, มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต ,มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือตกต้นไม้แขนขาหัก, จมน้ำ หรือถูกงูพิษกัด แต่ไม่ใช่โรคที่เป็นมานานอย่างโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันเรื้อรัง 

กรณีที่ปรากฏตามข่าวนั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งทีมสอบสวนและลงไปเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลที่เกิดกรณีดังกล่าว ซึ่งพบข้อมูลว่าผู้ป่วยในกรณีนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าตามเกณฑ์ของ UCEP ทุกประการ ซึ่งความหมายในเบื้องต้นคือผู้ป่วยสามารถไปใช้บริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้สุดภายใน 72 ชั่วโมงได้ฟรี

สพฉ.ผนึก สบส สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา

ในส่วนที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลว่า โรงพยาบาลได้เรียกเก็บเงินจำนวน 100,000 บาท ก่อนที่จะทำการรักษาผู้ป่วย และเมื่อญาติไม่สามารถหาเงินมาได้โรงพยาบาลก็ไม่ทำการรักษาผู้ป่วย ประเด็นนี้รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนของการรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่งนั้น หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ามายังโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะต้องทำการคัดแยก แล้วดูว่าอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยนั้นมีความรุนแรงที่จะเข้าเกณฑ์ของ UCEP หรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถเข้ารับการรักษา โดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ของ UCEP ก็สามารถนำใบคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไปใช้เบิกในส่วนของกองทุนอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมีสิทธิอยู่ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกองทุนของข้าราชการได้อีกด้วยไม่ใช่ว่าหากเข้าไปทำการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดแล้วจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ป่วยสามารถนำใบคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปเบิกต่อยังกองทุนต่างๆ เหล่านี้ได้

สพฉ.ผนึก สบส สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา

ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ต้องเข้าไปดูคือเมื่อเข้าไปแล้วทำไมผู้ป่วยถึงไม่ได้ใช้สิทธิ UCEP ก็มีประเด็นอยู่ที่ว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือหนักเกินกว่าศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรักษาได้ ขึ้นอยู่กับการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตมากและมีอาการโคม่า ส่วนการเข้าไปแล้วโรงพยาลไม่ทำการรักษาและปฏิเสธการรักษาหรือไม่ หรือเป็นเรื่องศักยภาพของโรงพยาบาลมีความสามารถในการรักษากรณีนี้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม

สพฉ.ผนึก สบส สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา

ในกรณีที่เกิดขึ้น หากมีความผิดจริง จะต้องดำเนินการว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนโยบาย UCEP นั้นเป็นกฎหมายที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลปี พ.ศ. 2541 ถ้าสอบสวนสถานพยาบาลแล้วพบว่ามีความผิด ในการปฏิเสธสิทธิผู้ป่วย UCEP นั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน  4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งสามารถเกี่ยวข้องกับการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานพยาบาลได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 อีกด้วย แพทย์พยาบาลที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องมาพิจารณามาตรฐานทางจริยธรรมและการปฏิบัติทางเวชกรรมโดยแพทยสภาหรือสภาการพยาบาลของตนเอง ซึ่งขณะนี้ สพฉ.และ สบส.ได้ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว 

สพฉ.ผนึก สบส สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษา