สหกรณ์ซุกหนี้ สินเชื่อโตพรวด NPLแค่0.1%

30 ก.ค. 2562 | 04:10 น.

ทีเอ็มบีชี้สินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์โตพรวด 2 ล้านล้านบาท ขณะมีหนี้เสียตํ่าแค่ 0.1% เปิดไส้ในพบกู้เงินใหม่โปะหนี้เก่า หวั่นลามระบบหากเกิดปัญหา

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในช่วง 1-2 ปีมานี้ มีสัญญาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก หากดู ยอดสินเชื่อจะพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งค่อนข้าง

น่าเป็นห่วง เพราะสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นส่วนสำคัญของภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 22% หรือมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ที่มีอัตราการขยายตัวเพียง 4% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.37 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขยอดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันคงค้าง ปัจจุบันอยู่ที่ 4.27 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้จำนวนราว 9.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนยอดสินเชื่อส่วนบุคคลก้อนนี้ มาจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันประเภทแคชทูโก และบัตรกดเงินสด คิดเป็นสัดส่วน 42% สินเชื่อโฮมฟอร์แคช 29% สินเชื่อจำนำทะเบียน 4% และอื่นๆ อีก 25%

อย่างไรก็ดี หากดูในรายละเอียดสินเชื่อที่เติบโตเพิ่มขึ้น พบว่าไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่มาจากสถาบันการเงินอื่นๆ โดยในจำนวนสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 12.6 ล้านล้านบาท พบว่ามาจากธนาคารพาณิชย์ 5.4 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) สูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank) ราว 1.2 ล้านล้านบาท

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกันหากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พบว่า ธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 5% นอนแบงก์ 2.4%

ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์มีหนี้เอ็นพีแอลน้อยเพียง 0.1% ถือว่าอยู่ในระดับตํ่ามาก ซึ่งไม่สะท้อนคุณภาพสินเชื่อที่แท้จริง ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อมีการ Rollover หรือการกู้สินเชื่อใหม่มาใช้หนี้เก่า ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจจะต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงหากเทียบสัดส่วนเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ที่สูงกว่านอนแบงก์เกือบ 2 เท่า อาจต้องมาดูมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเมื่อเทียบกับระดับหนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามหนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีความสำคัญต่อหนี้ครัวเรือน และยังมีสัญญาณความเปราะบาง ที่มีการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงและมีความเสี่ยงมากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น นอนแบงก์ หรือ SFIs เป็นต้น เพราะสหกรณ์มีความเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ด้วยกันค่อนข้างสูง หากสหกรณ์แห่งใดแห่งหนึ่งมีลูกหนี้ที่ชำระไม่ไหวจำนวนมาก อาจจะกระทบเชื่อมโยงกันหมด เมื่อเทียบกับนอนแบงก์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ทำให้ผลกระทบจะน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่ให้ความเป็นห่วงและส่งสัญญาณในรายงานล่าสุด

“ช่วงที่ผ่านมาคนจะพูดเยอะเรื่องสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อรถยนต์ หรือจำนำทะเบียน แต่มีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือ สินเชื่อบุคคลอีกก้อนที่โตค่อนข้างเยอะ และส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง เพราะดูข้อมูลจะเห็นว่ามีขนาดใหญ่กว่าสินเชื่อบ้าน และกลุ่มที่เริ่มเห็นสัญญาณปล่อยเยอะจะเป็นสหกรณ์ ที่ตอนนี้ค่อนข้าง “เปราะบางและมีความสำคัญต่อหนี้ครัวเรือน” แต่หากไปดูตัวเลขหนี้เสียที่ตํ่ากว่า 0.1% ซึ่งค่อนข้างสวนทาง ส่วนหนึ่งมาจากมีการ Rollover สินเชื่อ คือ มีการกู้ใหม่โปะหนี้เก่า ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อระบบ ส่วนนอนแบงก์เอ็นพีแอลตํ่า 2.4% เทียบกับแบงก์ที่ค่อนข้างเข้มงวดแต่เอ็นพีแอลมีถึง 5% เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,491 วันที่ 28 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สหกรณ์ซุกหนี้  สินเชื่อโตพรวด  NPLแค่0.1%