ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

26 ก.ค. 2562 | 10:43 น.

คลื่นความร้อนที่พาดผ่านยุโรป ทำให้หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงระดับ ‘ร้อนทำลายสถิติ’ เช่นที่กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงสุดที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์คือ 108.6 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 42.5 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ซึ่งถ้าหากเป็นอุณหภูมิของร่างกายก็เข้าขั้น ‘จับไข้’ เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์นั้นอยู่ที่ราวๆ 37-38 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศอังกฤษ รายงานว่า อุณหภูมิที่วัดได้ที่สนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน นั้นวัดได้ที่ 98.4 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 36.8 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถิติใหม่ ทำให้กรกฎาคมปีนี้กลายเป็นเดือนที่ 'ร้อนที่สุด' ของอังกฤษเช่นกัน ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดที่เมืองเคมบริดจ์ ไต่ขึ้นไปสูงถึง 100.5 องศาฟาเรนไฮท์ ( 38 องศาเซลเซียส) นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่เคยมีการตรวจวัดอุณหภูมิได้ถึงระดับตัวเลข 3 หลัก (เมื่อวัดเป็นองศาฟาเรนไฮท์)   


 

ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศอื่นๆของยุโรปต่างเผชิญอุณหภูมิความร้อนในระดับทำลายสถิติเช่นเดียวกัน เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ วัดอุณหภูมิสูงสุดได้ที่ 105.3 องศาฟาเรนไฮท์ (40.7 องศาเซลเซียส) เยอรมนี 106.7 องศาฟาเรนไฮท์ (41.5 องศาเซลเซียส) และเบลเยี่ยม 103.8 องศาฟาเรนไฮท์ (39.8 องศาเซลเซียส)

 

ผลพวงของคลื่นความร้อนทำให้สถิติการจมน้ำตายในช่วงนี้ที่ประเทศฝรั่งเศสทะยานสูงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2561 และมีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องทางอ้อมกับคลื่นความร้อนอย่างน้อย 60 คน ซึ่งในจำนวนนั้นหมายรวมถึงการลงไปเล่นน้ำคลายร้อนและจมน้ำ  ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทางตรง จากการอยู่ในที่แจ้งและถูกแดดเป็นเวลานานเกินไปจนเกิดอาการลมแดด (heatstroke) อุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงและไม่คลายลงจนกระทั่งเสียชีวิต มีรายงานแล้วจำนวน 5 คนเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ที่เบลเยี่ยมยังมีการเตือนภัยระดับสูงสุดเกี่ยวกับคลื่นความร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึงชีวิต


ยุโรปร้อนระอุทุบสถิติ ฝรั่งเศสสั่งปิด 2 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

แม้ในเชิงเศรษฐกิจอาจยังไม่เห็นผลชัดนัก แต่ความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งที่ประเทศฝรั่งเศส มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป ทำให้ทางโรงงานต้องสั่งปิดการทำงานของ 2 เตาปฏิกรณ์จนกว่าอุณหภูมิจะลดลง  นอกจากนี้ การรถไฟในประเทศอังกฤษยังสั่งให้รถไฟวิ่งด้วยความเร็วที่ช้าลง เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของรางซึ่งหากสูงเกินจะทำให้รางเกิดการขยายตัวและอาจทำให้เกิดอันตรายได้  ข่าวระบุว่า อุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงยังอาจเป็นสาเหตุทำให้รถไฟยูโรสตาร์ที่กำลังบรรทุกผู้โดยสารกว่า 600 คนเกิดเหตุขัดข้องและต้องหยุดวิ่งขณะอยู่ในอุโมงค์ที่ร้อนอบอ้าวเป็นเวลาถึง 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ก.ค.)

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่อุณหภูมิความร้อนพุ่งขึ้นถึงระดับทะลุ 100 องศาฟาเรนไฮท์ในประเทศแถบยุโรปไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ประชาชนจึงไม่ได้เตรียมพร้อมหรือไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับคลื่นความร้อน นอกจากนี้ อาคารส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการออกแบบให้เผชิญกับอากาศที่ร้อนอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไปว่ามีอาคารจำนวนมากที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ  ยกตัวอย่างบ้านเรือนในประเทศเยอรมนี มีเพียง 2% เท่านั้นที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ  สถิติยังพบว่า 72% ของประชาชนในยุโรปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาคารคอนกรีตและถนนราดยางมะตอย ทำให้ตกอยู่ท่ามกลางภาวะที่เรียกว่า heat-trap หรืออยู่ภายในแอ่งกระทะความร้อนทั้งวันทั้งคืน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่นผู้ป่วยความดันสูง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ในปี 2546 เคยเกิดภาวะคลื่นความร้อนแผ่ไปทั่วภูมิภาคยุโรป และครั้งนั้น ได้รับการจดบันทึกไว้ว่าผลกระทบจากอุณหภูมิความร้อนรุนแรงซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิในเวลานี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย