‘ด่านหิน’ แก้รธน.2560 ล้างมรดกคสช. ‘ยาก’

27 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

วันนี้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหลายพรรคต่างเห็นพ้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งธงยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้

น่าสังเกตว่า ยังไม่ได้พูดถึงการแก้ไขในส่วนของสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ แต่มุ่งไปที่การแก้เงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกมองว่าเป็น “มรดกของ คสช.” ให้สามารถทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเปิดทางนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มาหรือไม่ จึงน่าสนใจ

เมื่อพลิกดูรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แม้ ว่าจะเขียนเปิดช่องให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ก็อาจไม่ง่ายนัก โดยปรากฏอยู่ในหมวด 15 ว่า ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 มาตราดังนี้

มาตรา 255 บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้

ส่วนมาตรา 256 บัญญัติไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ มาตรา 256 (1) กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1. คณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 100 คนเข้าชื่อกัน 3. ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 150 คน และ 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน

 

พิจารณา 3 วาระ

ขณะที่มาตรา 256 (2) ถึง (9) นั้นได้กำหนดขั้นตอนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า การเสนอญัตติ ขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ คือ

 

‘ด่านหิน’ แก้รธน.2560 ล้างมรดกคสช. ‘ยาก’

 

วาระแรก ขั้นรับหลักการ โดยการออกเสียงลงคะแนนขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่หรือ 84 คน จากส.ว.ทั้งหมด 250 คน ซึ่งหากพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการเลือกโดย คสช. โอกาสที่จะได้เสียงสนับ สนุนจาก ส.ว. ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 5 ปีแรกจึงไม่ง่าย

วาระที่สอง ให้พิจารณาเรียงลำดับมาตราโดยให้ถือเสียงข้างมาก แต่ในกรณีเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อพิจารณาวาระสองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาในวาระต่อไป

วาระที่สาม ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยเช่นเดียวกับขั้นรับหลักการ โดยต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาหรือ 84 คน

ดังนั้น นอกจาก 84 เสียงของ ส.ว.แล้ว การลงมติในวาระ 3 นี้จะต้องได้เสียงสนับสนุนของพรรค เล็กที่ไม่ได้เป็น รมต.หรือประธาน และรองประธานสภาอีกด้วย

เมื่อมีการลงมติเห็นชอบแล้วให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ส่งศาลรธน.วินิจฉัยได้

ในกรณีต้องการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจสามารถปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ได้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการลงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดได้ด้วยว่า เมื่อพิจารณาผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส.หรือ ส.ว.หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้ง 2 สภารวมกันแล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการลงมติ เห็นชอบดังกล่าว ขัดต่อมาตรา 255

 

‘ด่านหิน’ แก้รธน.2560 ล้างมรดกคสช. ‘ยาก’

กล่าวคือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ หรือมีลักษณะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือ หมวด 15 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลวินิจฉัยให้แล้วเสร็จใน 30  วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลนั้น นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

แก้ไขรธน.60 ยาก

หากเปรียบเทียบขั้นตอนกระบวนการของรัฐธรรมนูญปี 2560 พบว่า มีหลักการแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาเป็นหลัก

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐ ธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้แบ่งระดับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย คือ ห้ามแก้ไขเลย ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 255 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้

ในระดับที่แก้ไขยาก มีปรากฏอยู่ในมาตรา 256 (8) ที่บัญญัติไว้ว่า การแก้ไขหมวดทั่วไป, หมวดพระมหากษัตริย์, หมวดแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, เรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ, เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ, เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ จะต้องผ่านการทำ “ประชามติ” และในระดับปกติ คือ การลงมติตามวิธีการที่กำหนดไว้

ข้อกำหนดเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยและเงื่อนปมสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเห็นได้ว่า ไม่ง่ายเลย ภายในระยะเวลา 1 ปีของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” จึงน่าสนใจว่าจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมูญ ตามเงื่อนไขของ “ประชาธิปัตย์” ได้หรือไม่? 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3491 ระหว่างวันที่ 28 - 31 กรกฎาคม 2562

‘ด่านหิน’ แก้รธน.2560 ล้างมรดกคสช. ‘ยาก’