เร่งภาษีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สร้างระบบที่เป็นธรรม

24 ก.ค. 2562 | 07:14 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3490 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค.2562

 

เร่งภาษีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

สร้างระบบที่เป็นธรรม

 

                  เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปล่อยให้กฎหมายที่คั่งค้างมาจากรัฐบาลก่อนตกไปหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับที่สำคัญในระบบการค้าออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ กระทั่งเกี่ยวพันกับการหาประโยชน์ทางเดียว จากบริการในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเจ้าของแพลต ฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่ทำมาหากินในไทย แต่ไม่มีแม้แต่สลึงเดียวที่จะเสียภาษีให้กับประเทศนี้

                  พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆกลับไปเร่งทบทวนร่างกฎหมายที่คั่งค้างว่าจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อหรือไม่ ซึ่งวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาครบกำหนด 60 วันนับจากวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก ที่กำหนดให้ ครม.ต้องยืนยันร่างกฎหมายต่อสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 147 เมื่อไม่ได้ยืนยันในกรอบที่กำหนดก็มีผลให้กฎหมายตกไป

                  กฎหมายที่ไม่ได้ยืนยันหนึ่งในนั้นเป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ต่างชาติ คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ ที่ทำการค้าขายสินค้าแบบอีคอมเมิร์ซ สินค้าออนไลน์ และป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Google Facebook Amazon และ LINE ที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้มีรายได้จากการทำธุรกิจในไทยปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีการเสียภาษีแต่อย่างใด

                  กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญกำหนดให้บริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและเจ้าของแพลตฟอร์ม ต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและตั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทยเพื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่ดีที่จะนำไปสู่การสร้างระบบที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมลํ้า และความแตกต่างของการจ่ายภาษี หลังจากกลุ่มคนไทยที่ค้าขายแบบดั้งเดิมต้องเข้าระบบเสียภาษี ขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการต่างประเทศไม่ได้เสียภาษี จึงเกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

                  การจัดเก็บภาษีกับเจ้าของแพลตฟอร์มต่างชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่และเป็นการเลือกปฏิบัติ โดย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ ได้มีการวางระบบจัดเก็บภาษีแบบนี้แล้ว ขณะที่หลายประเทศรวมทั้งยุโรปก็เริ่มหันมาศึกษาและจะเร่งดำเนินการในทำนองเดียวกัน รัฐบาลไทยจึงควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งนอกจากช่วยสกัดไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ โดยที่ไทยไม่ได้อะไรเลยแล้ว ยังจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้ามาอยู่ในลู่วิ่งเดียวกัน แม้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยยังไม่อาจเปรียบเทียบหรือต่อสู้ได้ก็ตาม