‘สามารถ’ชี้ไม่ควรแตะสัมปทาน 15บาทตลอดสายที่รัฐลงทุนเอง

26 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายไม่ง่าย BTS-MRT รอเงื่อนไขภาครัฐกรณีจ่ายชดเชยให้เอกชน ด้าน “สามารถ” จากปชป. ชี้ทำได้เฉพาะสายที่รัฐลงทุนเอง ยกเส้นสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ ลดได้ทันที

นับจากเข้ารับตำแหน่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ พร้อมรัฐมนตรีจากพรรคร่วมมีนโยบายลดราคาค่าโดยสารสาธารณะ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยจะปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑลเหลือ 15 บาทตลอดสาย จากราคาปกติ 42-59 บาท

ต่อเรื่องนี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขจากทางภาครัฐก่อนว่ามีกำหนดว่าอย่างไรบ้าง เนื่องจากบีทีเอสมีทั้งเส้นทางรับสัมปทาน และบริการรับจ้างเดินรถ แต่ละสัญญาจึงแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารในภาพรวมวันละประมาณ 9 แสนคน หรือเฉลี่ยประมาณ 8 แสนคนต่อวันในวันทำงานปกติ โดยปริมาณผู้โดยสารหลักยังอยู่เขตในเมือง ส่วนต่อขยายเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนเส้นทางช่วงรับจ้างวิ่งให้บริการ รายได้ทั้งหมดจะเป็นของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ส่วนสัมปทานจะครบในปี 2572 นั้น บีทีเอสรับรายได้ทั้งหมด เมื่อครบสัมปทานรายได้จะเป็นของกทม.ทั้งหมดด้วยเช่นกัน

“ปีที่ผ่านมาปริมาณผู้โดยสารเริ่มคงที่ในช่วงปลายปีเป็นต้นมา ล่าสุดได้รับจ้างวิ่งให้บริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการจำนวน 9 สถานี โดยปริมาณผู้โดยสารเพิ่มอีกประมาณเกือบ 1 แสนคนต่อวัน”

แหล่งข่าวระดับสูงของกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ กทม.จ้างบีทีเอสวิ่งให้บริการทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และหมอชิต-คูคต ประมาณ 1.86 หมื่นล้านบาท โดยจ้างให้บริการระยะเวลา 25 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2585 โดย กทม.รับรายได้จากค่าโดยสารทั้งหมด ดังนั้นกระทรวงคมนาคมสามารถจะปรับราคาเหลือ 15 บาทได้ทั้งหมด ทั้งในส่วนสัมปทานเดิม และส่วนต่อขยายที่จ้างบีทีเอสวิ่งให้บริการ โดยส่วนสัมปทานจะต้องเจรจาในรายละเอียดว่ารัฐจะเข้าไปช่วยเหลือในส่วนต่างๆนั้นด้วยวิธีไหนได้บ้างหรือชดเชยเอกชนอย่างไร

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ในส่วนสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่นั้น BEM รับเฉพาะค่าให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาปีละ 1,800 ล้านบาทเท่านั้น รายได้จากค่าโดยสารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จัดเก็บไว้ทั้งหมด มีระยะเวลา 30 ปี ส่วนสายสีนํ้าเงินทั้งส่วนที่ให้บริการในปัจจุบันและส่วนต่อขยายที่จะเปิดให้บริการเดือนกันยายน 2562 ที่ระยะเวลาสัมปทานไปสิ้นสุดในอีก 30 ปีนั้น BEM รับรายได้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร

“สำหรับปริมาณผู้โดยสารในวันปกติประมาณ 3.8-4 แสนคน ส่วนค่าเฉลี่ยประมาณ 3.2 แสนคน รายได้ต่อปีประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยการเติบโตปีละประมาณ 5.5%”

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่ กล่าวว่า เสนอแนวคิดให้กับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเอง อย่างเช่น สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ซึ่ง รฟม.จ้าง BEM เดินรถ หากลดราคาก็ไม่กระทบต่อรายได้ของเอกชน สำหรับราคาค่าโดยสารสายสีม่วงเริ่มต้น 16 บาทจนถึง 42 บาท แต่ราคาเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ประมาณ 28 บาท ดังนั้นหากจะปรับเป็น 15 บาทตลอดสาย ก็อาจจูงใจประชาชนในจังหวัดนนทบุรีใช้บริการมากขึ้น รฟม.ก็อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต

“ถ้าจะให้ราคารถไฟฟ้ามีราคาถูก ประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย ต่อไปเส้นทางที่ออกนอกเมืองภาครัฐต้องลงทุนเองทั้งหมด ดังนั้นการลดราคาค่าโดยสารจะไปแตะเส้นที่ให้สัมปทานไม่ได้”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,490 วันที่ 25 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

‘สามารถ’ชี้ไม่ควรแตะสัมปทาน  15บาทตลอดสายที่รัฐลงทุนเอง