ลุ้นรัฐหั่นภาษีมนุษย์เงินเดือน   ‘ห้าง-ท่องเที่ยว’ รับอานิสงส์

24 ก.ค. 2562 | 11:37 น.

 

 

 

 

จับตานโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นละ 10% เป็นบวกต่อกลุ่มชนชั้นกลางฐานหลักกลุ่มภาษีเงินได้ ดันกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คาดหุ้นกลุ่มบริโภค ท่องเที่ยว และบันเทิง รับอานิสงส์คึกคัก

ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดกับการเปิดนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยมีหนึ่งในนโยบายที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นละ 10% ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศให้ดีขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นตามด้วย นอกจากช่วยภาคประชาชนแล้ว ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังได้ประโยชน์ร่วมกันจากการออกมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชนด้วย

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า หากมาตรการนี้เกิดขึ้นจริง มีโอกาสจะเกิดขึ้นในปี 2563 คาดจะเป็นผลทางบวกต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นฐานภาษีหลักในกลุ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากได้ผลประโยชน์จากภาษี ขณะที่ในทางตรงข้ามผลกระทบ คือ ฝั่งรัฐบาลคาดจะกระทบต่อการจัดหาเงินของรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสที่รัฐบาลอาจจะไปเพิ่มการเก็บภาษีอื่นๆ ตามมาภายหลัง หรืออาจต้องขาดดุลงบประมาณปี 2563 เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จากงบประมาณปี 2563 กำหนดวงเงินรวมที่ 3.2 ล้านล้านบาท และปัจจุบันยังมีความล่าช้าในการพิจารณา 

ลุ้นรัฐหั่นภาษีมนุษย์เงินเดือน   ‘ห้าง-ท่องเที่ยว’ รับอานิสงส์

 

 

        

อย่างไรก็ตาม คาดหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภค รับผลบวกจากมาตรการรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการหลักๆ ในกลุ่มได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย, กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ได้ประโยชน์จากการปรับลดฐานภาษีบุคคลธรรมดา อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การพิจารณาต่ออายุมาตรการฟรีวีซ่า (VOA) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2563 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยดึงดูดทางการท่องเที่ยว และจะส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ขณะที่กลุ่มบันเทิง รับผลบวกจากกำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้น หนุนให้ทางฝั่งผู้ประกอบการเองเร่งกระตุ้นยอดขาย ด้วยการทำโฆษณามากขึ้น

นโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นละ 10% ถูกให้ความสนใจ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มบุคคลธรรมดาที่อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร น่าจะถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ เมื่อภาระภาษีลดตํ่าลงก็น่าจะหนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งนี้โครงสร้างรายได้จากภาษีของรัฐบาลพบว่ามีสัดส่วนที่มาจากกรมสรรพากรประมาณ 73–74% ขณะที่โครงสร้างภาษีของกรมสรรพากรมีส่วนที่มาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 18% โดยที่ในปี 2561 ที่ผ่านมามีรายได้จากส่วนนี้ราว 319,000 ล้านบาท หากมีการปรับลดลง 10% ตามแนวนโยบาย ก็น่าจะทำให้มีรายได้ภาษีรับลดลงประมาณ 32,000 ล้านบาท”                 

สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (HMPRO), บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC), บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT), บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS), บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR) และ บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) (PLANB)

บทวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ฯ ระบุว่านโยบายลดภาษีของรัฐบาล ประกอบด้วย การลดภาษีบุคคลธรรมดาทุกระดับขั้น 10% การยกเว้นภาษี 2 ปีแรกสำหรับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และยกเว้นภาษี 5 ปี สำหรับผู้เพิ่งจบการศึกษาใหม่ หุ้นที่จะได้ประโยชน์ คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS) และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,490 วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

 

ลุ้นรัฐหั่นภาษีมนุษย์เงินเดือน   ‘ห้าง-ท่องเที่ยว’ รับอานิสงส์