แบงก์เข้มจัดชั้นหนี้สัญญาณNPLเพิ่ม

26 ก.ค. 2562 | 09:00 น.

 

แบงก์เข้มหนี้เสีย จัดชั้นเพิ่มหลังเห็นสัญญาณ เอ็นพีแอลและหนี้จัดชั้นยังไต่ระดับ กระทบกำไรแบงก์ไตรมาส 2/62 ขยับแค่ 3.80% ครึ่งปีรั้งตัวเลข 1.13 แสนล้านบาท “ชาติศิริ” ไม่กังวล คาดครึ่งปีหลังทั้งสินเชื่อส่งออกและกำลังซื้อ หนุนความสามารถทำกำไร ค่าไทยพาณิชย์สแกนลูกหนี้รายตัวก่อนลามเป็นหนี้เสีย

จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/62 ของธนาคารพาณิชย์พบว่า ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง มีกำไรรวม 57,646 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2,110 ล้านบาทหรือ 3.80% จากไตรมาส2 ปีก่อนที่มีกำไร 55,536 ล้านบาท ส่วนงวดครึ่งปี มีกำไรรวม 113,092 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3,018 ล้านบาทหรือ 2.74% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 110,074 ล้านบาท แต่กลับมีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง แต่ทั้งระบบยังมีเสถียรภาพ เพราะส่วนใหญ่ยังเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและความเพียงพอของเงินกองทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

สำหรับหนี้เอ็นพีแอลไตรมาส 2/62 ของธนาคาร 10 แห่งขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM)ยังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกธนาคารมุ่งจัดชั้นคุณภาพหนี้และกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ อย่างเช่น บมจ.ไทยพาณิชย์ มีเอ็นพีแอลเกิดใหม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอุตสาห กรรมโภคภัณฑ์เกษตร ,เคหะและเช่าซื้อ ขณะที่เอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงจากการตัดหนี้สูญ สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษเพิ่ม 28.7% เป็นการจัดชั้นเชิงคุณภาพธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 

แบงก์เข้มจัดชั้นหนี้สัญญาณNPLเพิ่ม

ด้านบมจ.กรุงไทยและบริษัทย่อยมีหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 74,430 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 64,465 ล้านบาท บมจ.กสิกรไทยหนี้ปรับโครงสร้างปรับลดเหลือ 67,923 ล้านบาทจาก 69,605 ล้านบาท หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษเพิ่มเป็น 48,361 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคมปีก่อนอยู่ที่ 36,396 ล้านบาท

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลยังไม่มีอะไรน่ากังวลคาดว่าทิศทางครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 2,011 ล้านบาท รวมเป็น 82,148 ล้านบาท หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 48,012 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีก่อนอยู่ที่ 46,501 ล้านบาท โดยธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 152,623 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่มี 153,003 ล้านบาท

 

แบงก์เข้มจัดชั้นหนี้สัญญาณNPLเพิ่ม

ชาติศิริ โสภณพนิช

“ภาพรวมครึ่งแรกปีนี้ สินเชื่อรายใหญ่มีโอกาสดี ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ส่วนผู้ส่งออกเห็นผู้ประกอบการซื้อความเสี่ยงดูแลตัวเองมากขึ้น ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง น่าจะไปได้ดีทั้งสินเชื่อเพื่อการส่งออกและกำลังซื้อ ส่วนความสามารถในการทำกำไรก็ยังหวังว่ายังดี”

ทั้งนี้ครึ่งปีแรกธนาคาร กรุงเทพมีกำไรเพิ่มเล็กน้อย โดยสินเชื่อการเกษตรและเหมืองแร่ขยายตัว 7.2% และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 2% จากสิ้นปีก่อน โดยจำนวนเงินให้สินเชื่อที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตและการพาณิชย์และภาคอื่นๆ

ด้านนางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารเน้นบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลเชิงรุกมากขึ้น แม้ว่าหนี้เอ็นพีแอลเกิดใหม่ทำได้ดี มีไม่ถึง 1% แต่จะเห็นหนี้เอ็นพีแอลค้างเก่าสะสมที่ 7.8% หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเข้าไปบริหารจัดการส่วนนี้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพมากขึ้น โดยทั้งปีจะควบคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 8% ภายใต้ทิศทางการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท

แนวทางบริหารจัดการเอ็นพีแอล ธนาคารจะแบ่งลูกค้าเป็นสีต่างๆ เช่น สีขาว เป็นกลุ่มที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่จะกระจายการดูแลทั้งลูกค้าและคู่ค้า เช่นรายที่อิงการส่งออกหรือพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวประเทศเดียว เพราะอนาคตอาจมีปัญหาได้หากไม่ปรับตัว ธนาคารจึงจะเข้าไปให้ความรู้ในการทำธุรกิจและกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม หรือพนักงานลูกค้าสัมพันธ์(RM)เข้าเยี่ยมลูกค้ามากขึ้นกรณีลูกค้าเริ่มส่งสัญญาณใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์

ขณะที่ลูกค้าสีเหลือง ส้ม ซึ่งส่งสัญญาณสีขุ่นๆ ธนาคารจะใช้วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนการยืดอายุหนี้ พักชำระหนี้ ลดค่างวดผ่อนชำระ เป็นต้น ส่วนกรณีสีแดงและดำ จะมีทีมปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาดูแลซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นไปตามขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องคดี

“เอ็นพีแอลที่เกิดจากการปล่อยใหม่มีน้อยมากไม่ถึง 1% เพราะเราคอนโทรลได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามา เราเอามาอบรมก่อน เพื่อให้เอ็นพีแอลเกิดใหม่อยู่ในระดับที่รับได้ และให้แน่ใจว่าเข้ามาแล้วสามารถปรับตัวได้ และดำเนินธุรกิจไปต่อได้ ไม่ใช่เข้ามาแล้วมีปัญหา ส่วนเอ็นพีแอลค้างเก่าที่มีอยู่ 7.8% เราก็แบ่งลูกค้าเป็นกลุ่มในการบริหารจัดการ ซึ่งเชื่อว่าปัญหาหนี้เสียมีโอกาสลดลงได้ในระยะถัดไป แม้จะไม่ได้ลดลงภายในเร็ววันแต่หนี้เสียจะดีขึ้น” 

 

หน้า 19-20 หนังสือฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,490 วันที่ 25 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562