รัฐระบายน้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ชาวบ้านเสียหาย ต้องชดเชย!!

28 ก.ค. 2562 | 02:00 น.

ฤดูฝนมาเยือน... นอกจากต้องระมัดระวังพายุ ลมแรง ฝนตกหนักแล้ว สถานการณ์ที่ตามมาก็อาจเป็นนํ้าท่วมขัง การจราจรติดขัด (สำหรับชุมชนเมือง) หรือแม้กระทั่งบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา อาจถูกทำลายเสียหายโดยภัยธรรมชาติที่ไม่อาจป้องกันได้เลยหรือป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

ปัญหาว่า หากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อป้องกันภัยพิบัติและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณะอย่างร้ายแรง

แต่การดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้ชาวบ้านหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับความเสียหาย ผู้ได้รับความเสียหายต่อสิทธิ เช่น ทรัพย์สินเสียหาย มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่

นายปกครองมีอุทาหรณ์จากคดีปกครองมาฝากครับ!!โดยข้อพิพาทในคดีปกครองเรื่องนี้ เกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2549 ประกอบกับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นช้างสารทำให้นํ้าในแม่นํ้าหลายสายมีปริมาณสูง เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานจึงบริหารจัดการนํ้าในเขื่อน โดยเร่งระบายนํ้าในปริมาณที่มากเพื่อป้องกันไม่ให้นํ้าเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดอันตรายต่อความมั่นคงของตัวเขื่อนโดยผันนํ้าไปยังแม่นํ้าลำคลองสายต่างๆ ในระบบชลประทานเพื่อควบคุมไม่ให้ปริมาณนํ้าไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมหรือบ้านเรือนราษฎร รวมทั้งพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จนเกิดความเสียหายร้ายแรง

แต่การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลทำให้มีนํ้าท่วมขังในพื้นที่หลายๆ แห่งรวมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท . จำกัด ทำให้โรงสีข้าวและทรัพย์สินของบริษัท . จำกัด ได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้ กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตามพ...การชลประทานหลวง .. 2485 ในการบริหารจัดการนํ้าในเขื่อนเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพ...การชลประทานหลวง ..2485 และไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อบริษัท . จำกัด (ผู้ฟ้องคดี)

แต่กรมชลประทานต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับบริษัท . จำกัด เพื่อคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคลที่ต้องรับภาระความเสียหายเป็นพิเศษ แต่มิใช่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดที่มีวัตถุประสงค์จะให้ผู้เสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากแต่เป็นการชดเชยเฉพาะความเสียหายที่บริษัท . จำกัด ได้รับมากเกินกว่าปกติทั่วไป อันเนื่องมาจากการกระทำในการบริหารจัดการนํ้าของเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเพื่อความเป็นธรรมเท่านั้น (ผู้สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองและแนวทางการพิจารณาชดเชยความเสียหายได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ . 263/2562)

 

คดีนี้ถือเป็นหลักการสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าหน่วยงานทางปกครองได้ทำหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของส่วนรวม หรือความปลอดภัยสาธารณะตามวัตถุ ประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้วก็ตาม

แต่หากการกระทำตามอำนาจหน้าที่มีผลทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องรับภาระความเสียหายเป็นพิเศษมากเกินกว่าปกติทั่วไป แม้ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิด หน่วยงานทางปกครอง (หรือหน่วยงานของรัฐ) ยังต้องรับผิดในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับความเสียหายนั้น แต่การชดเชยความเสียหายในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่การเยียวยาให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังเช่น กรณีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายหรือการกระทำละเมิด ... ครับ !!! (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3490  วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

รัฐระบายน้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะ  แต่ชาวบ้านเสียหาย ต้องชดเชย!!