"พงศธร เอื้อมงคลชัย"แม่ทัพ‘ยามาฮ่า’ในยุคเปลี่ยนผ่าน

24 ก.ค. 2562 | 05:45 น.

ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์(Landscape) ทางการตลาดเปลี่ยนไป หลายบริษัทเริ่มปรับตัวตั้งแต่แนวคิดองค์กร ทัศนคติของพนักงาน โครงสร้างการบริหาร และส่งต่อไปถึงกลยุทธ์เพื่อดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยื

จากหลังบ้านสู่หน้าบ้านไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาถึง 55 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคม-สภาพตลาดในหลายมิติ และมีจุดหักเลี้ยวของเทคโนโลยีอยู่หลายครั้ง ถึงวันนี้เป็นก้าวสำคัญในการกำหนดทิศทางใหม่ในยุคคลื่นยักษ์ดิจิทัลถาโถม พร้อมรับกับนโยบายรัฐบาลที่หลากหลาย ทั้งมุ่งไปสู่การลดมลพิษ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และความพยายามลดความเหลื่อมลํ้าผ่านการควบคุมการปล่อยสินเชื่อและดอกเบี้ยของแบงก์และนอนแบงก์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบกับการดำเนินธุรกิจ (ดีลเลอร์) รถจักรยานยนต์แน่นอน

“ฐานยานยนต์” สัมภาษณ์ “พงศธร เอื้อมงคลชัย” ผู้ที่ทำงานกับ ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ มานานกว่า 20 ปี ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง General Manager of Global Human Resources Development Division ที่บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ ประเทศญี่ปุ่นกว่า 2 ปี และปี 2561 กลับมาบริหารงานในไทยอีกครั้ง ปัจจุบันรั้ง 2 ตำแหน่งคือ รองประธานกรรมการบริหารและรักษาการผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และแผนงานในช่วงตลาดรถจักรยานยนต์ไทยยอดขายทรงตัว

"พงศธร เอื้อมงคลชัย"แม่ทัพ‘ยามาฮ่า’ในยุคเปลี่ยนผ่าน

พงศธร เอื้อมงคลชัย

การซื้อ-ขายยุคใหม่

การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ต้องปรับตัว เราต้องพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพและโดนใจตลาด ขณะเดียวกันต้องช่วยดีลเลอร์ให้มากขึ้น เพราะสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนขั้นตอนการซื้อ-ขายเริ่มจาก แนะนำโปรดักต์ โฆษณา คนเดินไปที่ร้าน เปรียบเทียบโปรโมชันแล้วตัดสินใจซื้อ แต่ปัจจุบันมีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น คนเชื่อสังคม บล็อกเกอร์ เชื่อเพื่อน และสามารถตรวจสอบเงื่อนไข โปรโมชันส่งเสริมการขายของแต่ละที่ได้เลย

ที่สำคัญทุกวันนี้คนไม่ได้ซื้อรถจักรยานยนต์เป็นครั้งแรก และมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าพอสมควร นั้นหมายถึงเราต้องเตรียมความพร้อมในตัวสินค้า และทีมงานขายให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และปิดการขายให้ได้ ซึ่งจริงๆแล้วดีลเลอร์ในแต่ละภูมิภาคก็เข้าใจในกลุ่มลูกค้าดีและมีเทคนิคปิดการขายที่ต่างออกไป ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนในทุกๆด้านเพิ่มเติมเช่นการเข้าไปจัดกิจกรรม การทำโปรโมชัน เป็นต้น

 
รสนิยมไบเกอร์ไทย

เมื่อก่อนคนไทยชอบรถสวยเพรียว โฉบเฉี่ยว บางคนชอบนำไปแต่งให้ดูสปอร์ตดูแรง แต่ปัจจุบันรถต้องมีเอกลักษณ์ แสดงถึงตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ ต้องภูมิฐานและโชว์สถานะทางสังคม ซึ่งประเด็นนี้เห็นได้จากกระแสของ ยามาฮ่า เอ็กซ์แม็กซ์ (XMAX) รถพรีเมียมออโตเมติกที่ได้การตอบรับดีเกินคาด

“เรื่องสำคัญคือ เราจำเป็นต้องจัดสรรรถให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของดีลเลอร์และลูกค้า อย่างบางรุ่นบางสีขายดี ขาดตลาด เราต้องสั่งผลิตเพิ่มเติม ถ้าเป็นรถประกอบในประเทศใช้เวลา 2 เดือน แต่รถนำเข้าต้องใช้เวลา 6 เดือน ในการบริหารจัดการซัพพลายใหม่”

"พงศธร เอื้อมงคลชัย"แม่ทัพ‘ยามาฮ่า’ในยุคเปลี่ยนผ่าน

ความท้าทายในการควบ 2 ตำแหน่ง

ถือเป็นงานที่ท้าทาย แต่อาจจะเหนื่อยในช่วงนี้ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อย่างการสื่อสารยุคใหม่เมื่อผู้บริโภคเห็นข้อมูลรถใหม่ที่เปิดตัวในยุโรป ญี่ปุ่น หรือประเทศเพื่อนบ้านแล้ว มักจะมีคำถามกดดันมาทันทีว่าเมื่อไหร่จะเปิดตัวในไทย ซึ่งตามขั้นตอนปกติต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน

ขณะที่นโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดรถจักรยานยนต์ที่กำลังออกมาบังคับใช้ ยังต้องศึกษาอย่างละเอียด เช่น การคิดอัตราภาษีใหม่ตามการปล่อยไอเสีย ที่อาจส่งผลให้ราคาขายรถจักรยานยนต์ต่อคันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการขยับจากมาตรฐานไอเสียจากยูโร 3 เป็น ยูโร 4 ซึ่งเราต้องพัฒนารถให้ผ่านพิกัดไอเสียนี้

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตขับขี่รถบิ๊กไบค์ ที่รัฐบาลคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องดี รวมถึงหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อ ทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ แม้จะกระทบการดำเนินงานของดีลเลอร์บ้างแต่ในระยะยาวถือว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์

“จะเห็นว่ารัฐบาลมีมาตรการที่หลากหลายและทำโดยหลายหน่วยงาน ซึ่งเราพร้อมตอบสนองนโยบายต่างๆ เพียงแต่ขอให้มีความชัดเจน และไปในทิศทางเดียวกันพร้อมให้เวลาในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการ”

 

 
ตลาดครึ่งปีแรกและแนวโน้มครึ่งปีหลัง

ช่วงครึ่งปีแรกตลาดติดลบเล็กน้อย เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ส่วนยามาฮ่า ปีนี้ไม่ได้คาดหวังยอดขายสูง โดยประเมิณว่าน่าจะทรงตัวหรือบวก,ลบนิดหน่อย แต่ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 15% เป็น 16% ภายใต้ยอดขายรวมทั้งตลาดกว่า 1.7 ล้านคัน

สำหรับแผนงานของ ยามาฮ่า ในครึ่งปีหลัง จะเข้มข้นทุกเซ็กเมนต์ทั้งโมเพดอย่าง “ฟินน์” ที่จะชูความโดดเด่นเรื่องการประหยัดนํ้ามัน และกลุ่มออโตเมติกที่เราครองส่วนแบ่งการตลาด 26% จากสินค้าที่แข็งแกร่ง เช่น AEROX,NMAX,XMAX และแกรนด์ ฟิลาโน่ ไฮบริด ที่เตรียมเปิดตัวรุ่นใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องตามมหาวิทยาลัย และจังหวัดในหัวเมืองใหญ่

"พงศธร เอื้อมงคลชัย"แม่ทัพ‘ยามาฮ่า’ในยุคเปลี่ยนผ่าน

ช่วงไตรมาส 3 เตรียมเปิดตัวรถสปอร์ตรุ่นใหม่ เรียกว่าเป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ จากนั้นเดือนตุลาคมที่มีการแข่งขัน “โมโตจีพี” ณ สนามช้างฯ จังหวัดบุรีรัมย์ ยามาฮ่าเตรียมแคมเปญให้ลูกค้าร่วมกิจกรรมเพียบ พร้อมโปรโมตรถในกลุ่มสปอร์ต และพยายามผลักดัน MT-15 สร้างกระแสของรถทรงเนกเกดที่กำลังมาแรง

นอกจากนี้ ยังเตรียมโปรโมชันช่วงโลว์ซีซันช่วยดีลเลอร์ขับเคลื่อนยอดขายอย่างเต็มที่ ปัจจุบันยามาฮ่ามีดีลเลอร์ประมาณ 300 ราย เอาต์เลตกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ 

 

หน้า 28-29 หนังสือฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,490 วันที่ 25 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562