SME รายใหม่กระอัก ผวาต้นทุนพุ่ง หวั่นค่าแรง 400 กระทบผู้บริโภค

28 ก.ค. 2562 | 05:30 น.

เอสเอ็มอีประสานเสียงหวั่นต้นทุนเพิ่มจากนโยบายปรับค่าจ้างขั้นตํ่า เหตุต้องดำเนินการตามประกาศรัฐบาล ชี้อาจเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้บริโภค  ห่วงรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มกิจการสู้ไม่ไหว ระบุปรับค่าแรงต้องเป็นเวลาที่เหมาะสม และใช้ความสามารถเป็นเครื่องวัดกระแส 

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น  400 บาทต่อวันเริ่มถูกพูดถึงอย่างหนาหูมากขึ้น หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เคยใช้ในการหาเสียง เพื่อขอคะแนนจากประชาชน เท่าที่รับฟังความคิดเห็นจากรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และแรงงาน ต่างก็โยนเผือกร้อนให้รอการพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนายจ้างและเศรษฐกิจมหภาค 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือความเห็นจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งระบุว่า  การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่อาจทยอยปิดกิจการเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรม เพราะขณะนี้ไทยมีการขาดแคลนแรงงาน

SME รายใหม่กระอัก  ผวาต้นทุนพุ่ง  หวั่นค่าแรง 400 กระทบผู้บริโภค

จากสถานการณ์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับผลกระทบ โดยนายโชคยิ่ง พิทักษากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.โอ. สวนสระแก้ว จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายนํ้าผลไม้รูปแบบ Juice Ball กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาทต่อวันนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของตนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) เนื่องจากเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ  หรือทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น  แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแรงงานอยู่ประมาณ  20 คน  แต่ก็ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลหากประกาศให้มีผลบังคับใช้ด้วยการปรับขึ้นค่าแรง

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจจะอยู่ที่เรื่องของโลจิสติกส์และค่าแรง โดยหากจะต้องมีการปรับขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 5% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ภาพรวมของการทำธุรกิจไม่สู้ดีเท่าใดนัก อีกทั้งอัตราผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรไม่ได้ดีเหมือนที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หากต้นทุนจะต้องเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาผลิตภัณฑ์ยังจำหน่ายเท่าเดิม  การทำธุรกิจก็คงลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ดี  มองว่าเรื่องดังกล่าวนี้อาจจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสในการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ แม้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบ  โดยผู้บริโภคเองก็จะต้องได้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  นอกจากนี้ ก็จะส่งผลกระทบไปยังวงกว้างด้วย เนื่องจากหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าขึ้นมา คนที่มีรายได้ระดับกลางก็จะต้องขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อไม่ให้อัตราค่าจ้างเทียบชั้นกัน  

“ถามว่าการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนถึงขั้นต้องปิดกิจการเลยหรือไม่นั้น  คงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนในเวลานี้  แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือต้นทุนในการทำธุรกิจที่จะเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ”

นายมงคล คงสุขจิร  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี  พีลโล 999 (ประเทศไทย)ฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นใยต้านแบคทีเรียรายแรกของโลกแบรนด์ D pillow กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ หรือกำลังอยู่ในช่วงของการก่อร่างสร้างตัว เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในส่วนของบริษัทคงไม่ได้รับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่พนักงานได้รับค่าแรงเกินกว่าระดับดังกล่าวไปแล้ว เพราะบริษัททำธุรกิจมากว่า 20 ปี อีกทั้งพนักงานก็อยู่ด้วยกันมานาน ทำให้ได้รับเงินเดือนปรับขึ้นมาตามลำดับ

ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องดูด้วยว่าเป็นช่วงเวลาไหน จะต้องพิจารณาให้รอบด้าน หากเป็นช่วงนี้มองว่าคงไม่เหมาะสมเท่าใดนัก  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยทุกอุตสาหกรรมต่างก็ซบเซา ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บริษัททำธุรกิจร่วมกับโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่  และภูเก็ต เป็นต้น โดยทุกรายต่างก็มีรายได้หดตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้น

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าให้เป็นระดับเดียวกันหมดทั่วประเทศนั้น คงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก เนื่องจากค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญก็คือหากปรับขึ้นมาเป็นระนาบด้วยกันหมด ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาคลางแคลงใจกันได้ระหว่างพนักงานในบริษัท  เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละบุคคลมีความสามารถไม่เท่ากัน ดังนั้น  เรื่องของทักษะในการทำงานก็ควรเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาประกอบการพิจารณาด้วย 

 

SME รายใหม่กระอัก  ผวาต้นทุนพุ่ง  หวั่นค่าแรง 400 กระทบผู้บริโภค