“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

22 ก.ค. 2562 | 08:27 น.

จากความมุ่งมั่นของทีเอ็มบี ที่จะ “ให้คืน” กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน จากโครงการ ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH) จุดประกายเยาวชนและชุมชน ผลักดันให้เกิดเป็นพลังแห่งการให้ของอาสาสมัครทีเอ็มบีทั่วประเทศ กับกิจกรรม “เปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน” โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจปัญหาต่างๆ จุดประกายให้คนในชุมชนออกมาช่วยกัน “เปลี่ยน” ร่วมกับทีมอาสาสมัคร ช่วยกันคิด วางแผน และกำหนดแนวทางในการ “เปลี่ยน” เพื่อให้เหมาะกับชุมชน หรือตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้น ในเวลา 3 เดือน

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

โครงการ “พี่อาสาสอนน้องเพื่องานขายให้ยั่งยืน” โรงเรียนโสตศึกษา จ.อุดรธานี เป็นหนึ่งในกิจกรรม “ให้คืน” ที่ทีมอาสาทีเอ็มบีสร้างสรรค์มาตอบโจทย์ชุมชน เพี่อเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเข้าไปให้ความรู้และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน เพื่อให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งจัดอบรมให้นักเรียน ครู มีความรู้การเป็นผู้ประกอบการ จัดทำสื่อการเรียนรู้เรื่องการตลาด และการทำธุรกิจสำหรับผู้พิการทางการได้ยินเพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้

น.ส สายสุนีย์ คำมูล ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขา อุดรธานี และหัวหน้าโครงการ เล่าว่า ได้เข้ามาสำรวจโรงเรียน พบว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถผลิตสินค้าจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้อยู่แล้ว นั่นคือ ผงแกงอ่อม ผงขนมจีนผักชีลาว และอีกหลายผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่สามารถนำมาจำหน่ายในตลาดได้ ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ให้โรงเรียนได้ ซึ่งปัญหาสำคัญเกิดจากไม่มีมาตรฐาน อย. รับรอง แม้โรงเรียนมีความพยายามขอ อย. มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ไม่สำเร็จ ทีมอาสาฯ จึงเข้ามาช่วยในจุดนี้ก่อน และช่วยดูเรื่องความพร้อมในด้านต่างๆ รวมทั้งเอกสารในการยื่นขอ อย. จนในที่สุดผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนได้รับมาตรฐาน อย. แล้ว

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อปลดล็อคเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้แล้ว ก้าวต่อมาคือ ช่องทางการทำตลาด ซึ่งต่อยอดด้วยการทำคลิป สื่อการสอนเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่ายสู่ตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมาสามารถนำรายได้มาสู่โรงเรียนและน้องๆ จนถึงวันนี้ได้เห็นรอยยิ้มของทุกคน จากการเข้ามาสานฝันให้สำเร็จในระดับหนึ่ง ที่ได้เห็นสินค้าถูกต่อยอดนำไปสู่ตลาดได้มากกว่าแค่สอนให้เด็กเรียนรู้แล้วจบอยู่ในโรงเรียน

“เราคาดหวังว่าน้องๆ ที่มีความรู้ มีปัญญาภูมิชาวบ้าน รู้จักผลิตสินค้าแล้ว เมื่อจบออกไปหรือยังเรียนอยู่ รวมทั้งคุณครู จะนำสิ่งที่ทีมอาสาทีเอ็มบีแนะนำไปสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และมีการต่อยอดพัฒนาส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ ซึ่งที่นี่มีจุดเด่นเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน มีความรู้เรื่องการผลิตอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่รู้ว่าต้องนำสินค้าไปวางขายที่ไหน ติดต่ออย่างไร ทำอย่างไรให้สินค้าผ่านมาตรฐาน อย. รวมทั้งทำให้คนรู้จักสินค้า จนนำรายได้มาสู่โรงเรียนและชุมชน”   

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

การทำงานร่วมกันของพนักงานทีเอ็มบีนั้น ถือเป็นความโชคดีที่ทุกคนมองเห็นในจุดเดียวกันคือ อยากให้องค์ความรู้กับโรงเรียน จึงร่วมมือร่วมใจกันทำงานตั้งแต่เริ่มสำรวจ นัดทำกิจกรรม เตรียมองค์ความรู้เพื่อให้คำแนะนำกับน้องๆ และคุณครู ซึ่งเมื่อได้เข้ามาทำกิจกรรมกับน้องๆ แม้บางครั้งเขาอาจจะรับรู้สิ่งที่เราอยากสื่อสารไม่ได้มาก แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้เลยคือ น้องๆ มีความสุขมาก ทำให้ทีมอาสาฯ ทุกคนรู้สึกอิ่มใจและไม่เหนื่อยกับการทุ่มเททำงาน

น.ส.เชาวนี นาโควงศ์ และน.ส.อนัญญา บัวเทิง  คุณครูโรงเรียนโสตศึกษา จ.อุดรธานี กล่าวว่า งานสวนพฤกษศาสตร์นี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยต้องการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณ ซึ่งโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2544 และเลือก “ชะพลู” เป็นพืชพื้นถิ่นในการศึกษาเชิงลึกตามข้อกำหนดของโครงการ เพราะเป็นพืชปลูกง่าย มีประโยชน์เยอะ คนอีสานชอบรับประทาน ทำให้เชื่อมกับชุมชนและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นในเรื่องของอาหาร ด้วยคนส่วนใหญ่ชื่นชอบ “แกงอ่อม” ที่มีส่วนประกอบของชะพลู จึงนำมาต่อยอดเพื่อทำให้ชุมชนได้ประโยชน์จากการทำผลิตภัณฑ์อาหาร นั่นคือ คนอื่นได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ของเราด้วย จึงเป็นที่มาของ “ผงแกงอ่อม” และ “ผงขนมจีนผักชีลาว”

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ตอนแรกเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย แต่ความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยอาชีวะอุดรธานี ได้ไปดูงานทำให้คุณครูได้ความรู้เรื่องการผลิต เครื่องมือต่างๆ จนสามารถทำให้เด็กดูได้ และได้รับรางวัลเกียรติบัตรขั้นที่สองจากโครงการ ซึ่งเราต้องคิดต่อว่าเมื่อมีรางวัลแล้ว จะทำอย่างไรจึงจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เด็กที่ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงเหล่านี้สามารถนำไปเป็นอาชีพสร้างรายได้ เพื่ออย่างน้อยให้มีทักษะชีวิตแบบบูรณาการ แต่อุปสรรคคือ มาตรฐาน อย. ที่หลายเรื่องไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ อย. โดยตอนนี้ทางทีเอ็มบีได้เข้ามาช่วยสานฝันของโรงเรียนและเด็กๆ ให้เป็นจริง รวมทั้งเรื่องประโยชน์ของชุมชนด้วย”

นอกเหนือจากเรื่องมาตรฐาน อย. แล้ว ทีมอาสาทีเอ็มบียังแนะนำในเรื่องการตลาดและช่องทางจำหน่าย ทั้งช่องทางการโปรโมทสินค้า การขายผ่านโซเชียล ขายออนไลน์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการทำบัญชีเบื้องต้น เพื่อสร้างนักธุรกิจตัวน้อย โดยคุณครูเองก็ได้รับความรู้ที่แข็งแกร่งรอบด้านมากขึ้นนำไปส่งต่อให้กับเด็ก และเด็กสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อีก ซึ่งจาก กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่ได้จากชุมชน การสัมผัสแหล่งเรียนรู้จริง รวมถึงภูมิปัญญาที่ติดตัวมาจากบ้าน ผสมผสานกับที่โรงเรียนให้กระบวนการคิด การผลิต จะส่งผลให้เด็กๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเรียนจบแล้วสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

เป้าหมายจากนี้ไป โรงเรียนคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาจะถูกนำไปวางขายกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับผงอาหารชนิดอื่นๆ โดยก้าวแรกนี้มีอดีตคุณครูซึ่งลาออกไปทำธุรกิจขายสินค้าโอทอปในห้างบิ๊กซี พร้อมที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในร้าน และบูธที่ไปร่วมจัดนิทรรศการ รวมทั้งนำเข้าสู่สินค้าโอทอปของจังหวัด ถือเป็นกำลังใจให้โรงเรียนเตรียมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม โดยยึดภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาต่อยอด เพื่อให้เชื่อมกับชุมชนให้ได้ประโยชน์โดยแท้จริง

“จริงๆ แล้ว โครงการนี้ถือว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ เพราะเราก็ได้ความรู้เหมือนกันจากที่ต้องศึกษาข้อมูล ทำให้สามารถนำความรู้มาแนะนำลูกค้าเอสเอ็มอีได้ด้วย เช่น เมื่อลูกค้าต้องการวงเงินสินเชื่อไปทำธุรกิจ แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ ติดขัดเรื่องใบอนุญาต หรือ อย. เราช่วยแนะนำได้ เป็นการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับ”

“ทีเอ็มบี” ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น