“ส.ว.”หวั่นประท้วงวุ่น ขอเพิ่มเวลาอภิปรายนโยบาย

22 กรกฎาคม 2562

“ส.ว.”ห่วงส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ประท้วงมากเกิน หวั่นกินเวลาอภิปรายนโยบายรัฐบาลของส.ว.จ่อเสนอเพิ่มเวลา  หมอเจตน์ แนะอภิปรายข้อเสนอแนะแบบผู้ใหญ่ และอยู่ในกรอบนโยบาย

 

   “ส.ว.”หวั่นประท้วงวุ่น  ขอเพิ่มเวลาอภิปรายนโยบาย

วันที่ 22 กรกฏาคม 2562  สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่  25-26 กรกฏาคม นี้   โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าการจัดสรรเวลาให้อภิปรายนโยบายของรัฐบาล จำนวน 2 วันจะเพียงพอหรือไม่ เพราะเวลาที่กำหนดและรับทราบ ไม่รวมเวลาที่จะต้องประท้วงของ ส.ส. แต่ละฝ่าย รวมถึงไม่นับรวมเวลาที่นายกฯ นำเสนอนโยบายและผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายเปิดและอภิปรายปิด ดังนั้น จึงกังวลว่าเมื่อเวลาใกล้หมด ส.ว.ที่อยู่ในลำดับอาจไม่ได้สิทธิอภิปรายหรือไม่ อย่างไร

 

ขณะที่นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา   กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้หากเทียบเกณฑ์อภิปรายของ ส.ว. ในการอภิปรายรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม มี สว.อภิปรายทั้งสิ้น 45 คน ได้เวลาคนละ 8 นาที ทำให้มีเวลาอภิปรายรวมทั้งหมดเกือบ 6 ชั่วโมง ดังนั้นหากยึดหลักการดังกล่าวในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลต้องได้เวลาเกินกว่า 5 ชั่วโมง

 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 กรกฏาคม ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเรียกตัวแทนของ 3 ฝ่าย คือ วิปฝ่ายค้าน , วิปฝ่ายรัฐบาล และ สว. หารือ ต้องขอให้ทบทวนการจัดสรรเวลาดังกล่าวให้เพียงพอต่อการอภิปรายของ สว.ด้วย ในหลักการของการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้น เวลาที่นายกฯ นำแถลงนโยบาย และเวลาที่ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายนั้นจะไม่นำมานับรวมกับเวลาการอภิปรายที่กำหนดไว้ดังกล่าว แต่ที่ตนกังวลคือการประท้วง

 

“ผมอ่านข่าวจากสื่อมวลชนว่ารัฐบาลตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี 20 - 30 คน เพื่อตอบโต้ฝ่ายค้านที่จะอภิปรายตัวบุคคล โดยหลักการและกฎหมายการแถลงนโยบายรัฐบาล ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวบุคคล แต่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะอดไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงคือจะใช้เวลามาก ต่อให้จัดประชุม 3 วันอาจไม่พอ อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าในวันที่ 26 กรกฏาคม การอภิปรายต้องจบภายในเวลาเที่ยงคืน”

 

นพ.เจตน์ ระบุว่า ส.ว. ไม่มีหน้าที่อภิปรายสนับสนุนหรือปกป้องตัวบุคคล เว้นแต่อภิปรายถึงผลงานที่ผ่านมาว่าทำได้ดีอย่างไร แต่ไม่สามารถอภิปรายว่าที่ผ่านมาทำไม่ดี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่จะดำเนินการ ดังนั้น ส.ว.ควรเน้นนโยบายในเชิงให้ข้อเสนอแนะแบบผู้ใหญ่ โดยพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัญญาว่าจะทำว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือ ขาดอะไรบ้าง ตนเชื่อว่าเมื่อวางหลักการดังกล่าวจะทำให้การประชุมกลับมาพิจารณาเรื่องนโยบายและลดกระแสการอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลใด

 “ส.ว.”หวั่นประท้วงวุ่น  ขอเพิ่มเวลาอภิปรายนโยบาย