โซลาร์บ้าน ส่อสะดุด ไม่คุ้มทุน

22 ก.ค. 2562 | 04:40 น.

โซลาร์ภาคประชาชน จ่อล่ม เกือบ 2 เดือน ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ บ้านอยู่อาศัยต่างจังหวัด ยังไร้วี่แววการลงทุน เหตุค่าไฟฟ้ารับซื้อไม่จูงใจ ส.อ.ท. จี้ “สนธิรัตน์” ทบทวนใหม่ เบนเข็มติดตั้งบนหลังคาอาคารและโรงงาน

จากที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรจุนโยบายการผลิต ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่เหลือขายเข้าระบบได้หรือโซลาร์ภาคประชาชนไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ จำนวน10,000เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2562-2580ระยะแรก 10 ปีจะเปิดรับซื้อราว1พันเมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ หรือ 100,000 กิโลวัตต์

ทั้งนี้ กำหนดให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน มาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี และเริ่มจ่ายไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้ โดยกำหนดโควตาให้ กฟน.รับซื้อในสัดส่วน 30 เมกะวัตต์ และกฟภ.รับซื้อ 70 เมกะวัตต์ และสิ้นสุดการรับยื่นข้อเสนอภายในสิ้นปีนี้

จากการติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะผู้ออกหลักเกณฑ์ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน รายงานว่า นับจากที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาลงทะเบียน ในเขตกฟน.จำนวน 411 ราย คิดเป็นปริมาณ 2,072.45 กิโลวัตต์ แต่ยื่นเอกสารเพียง 198 ราย คิดเป็นประมาณ 1,027.25 กิโลวัตต์ และเขตกฟภ.มาลงทะเบียน 1,422 ราย แต่มายื่นเอกสาร จำนวน 279 ราย ปริมาณ 1,519.53 กิโลวัตต์ รวมจำนวนผู้มายื่นเอกสารรวม 477 ราย คิดเป็นปริมาณ 2,546 .78 กิโลวัตต์

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลและผลการพิจารณาของผู้ยื่นเอกสาร พบว่า ในส่วนของ กฟน.มีผู้ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค 158 ราย คิดเป็นปริมาณ 791.96 กิโลวัตต์ ส่วนกฟภ.มี 36 ราย คิดเป็นปริมาณ 187.04 กิโลวัตต์ ขณะที่แจ้งนัดหมายให้มาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในส่วนของกฟน.มีจำนวน 18 ราย คิดเป็นปริมาณ 99.07 กิโลวัตต์ ขณะที่กฟภ.พบว่ายังไม่มีการแจ้งนัดหมายทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแม้แต่เพียงรายเดียว

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากจำนวนผู้ยื่นเสนอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนดังกล่าว ที่เปิดรับข้อเสนอมาเกือบจะ 2 เดือนแล้ว ถือว่าอยู่ในจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นไปตามที่วงการผู้ผลิตไฟฟ้าคาดว่า โครงการนี้จะไปไม่รอดตั้งแต่แรก เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่รับซื้ออยู่ในอัตราที่ตํ่าเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับการลงทุนติดตั้งอยู่ที่ราว 3.7-3.8 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ หรือ 10 กิโลวัตต์ ราว 4 แสนบาท ซึ่งมีระยะคืนทุนประมาณ 10 ปี หากต้องกู้เงินมาจะไม่คุ้ม หรือหากเป็นเงินที่มีอยู่เอง จะคืนทุนราว 7-8 ปี ก็มองว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเช่นกัน ประกอบกับ ค่าไฟฟ้าที่รับซื้อในอัตราตํ่า บวกกับขั้นตอนการยื่นเสนอขายไฟฟ้ามีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนเท่าที่ควร

นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหานั้น ขณะนี้ทางส.อ.ท.ได้ร่างหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะส่งให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพื่อนัดหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ 

อย่างกรณีของการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ในแผน 1 หมื่นเมกะวัตต์นั้น เห็นว่าสัดส่วนมีความเหมาะสมแล้ว แต่จะต้องปรับสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน มาให้อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือหากต้องการรับซื้อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาถูก ก็ควรจะเปิดให้มีการประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์ม หรือโครงการโซลาร์ลอยนํ้าให้มากขึ้น

 นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่า การการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าว ว่า การที่มีผู้ผ่านการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนมีจำนวนน้อยนั้น เนื่องจากมีการยื่นเอกสารไม่ครบ ทำให้ต้องบอกยกเลิก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

โซลาร์บ้าน  ส่อสะดุด  ไม่คุ้มทุน