กทม.เผยสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีคืบหน้า76%

20 ก.ค. 2562 | 09:48 น.

กทม.เผยสะพานข้ามแยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่ช่วงแยกอโศกคืบหน้าแล้ว 76% ส่วนอุโมงค์ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช เปิดใช้งานบางส่วนแล้ว เดินหน้าเร่งโครงการเชื่อมสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 คาดแล้วเสร็จเดือนกันยายนนี้

กทม.เผยสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีคืบหน้า76% กทม.เผยสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีคืบหน้า76%

วันนี้ (20 ก.ค.62) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่-ถนนรัชดาภิเษก (อโศก) โครงการก่อสร้างทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช และโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วงที่ 5 และเปิดเผยว่า สะพานข้ามแยกอโศก-เพชร ซึ่งรูปแบบสะพานเป็นโครงสร้างเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 420 ม. ความกว้างสะพานรวม 8.80 ม. ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 อายุการใช้งานยาวนานกว่า 40 ปี ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้บำรุงรักษาตามสภาพ และยังไม่เคยดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงครั้งใหญ่ จากการสำรวจพบว่าสะพานชำรุดในหลายส่วน ทั้งในส่วนของคานเหล็กค้ำยันสะพาน ตอม่อ เสาเหล็ก ผิวจราจร และระบบไฟฟ้าต่างๆ

โครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่-ถนนรัชดาภิเษก (อโศก) ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน ประกอบด้วย งานรื้อผิวจราจรและพื้นสะพานเดิม งานติดตั้งโครงสร้างพื้นสะพานใหม่ งานปรับปรุงรอยต่อเผื่อขยาย งานปรับปรุงผิวจราจรบนสะพาน งานปรับปรุงราวสะพาน งานปรับปรุงคานเหล็กและเหล็กค้ำยัน งานปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง งานปรับปรุงแผ่นยางรองสะพาน งานปรับปรุงคานขวางเหล็กสะพาน งานปรับปรุงตอม่อเสาเข็ม งานปรับปรุงเสาเหล็กสะพาน งานปรับปรุงระบบระบายน้ำบนสะพาน และงานปรับปรุงอื่นๆ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครกำหนดปิดปรับปรุงสะพานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 9 มี.ค.-4 ก.ย.62 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลทำให้บริเวณแยกอโศกตามแนวถนนเพชรบุรี มีช่องจราจรเหลือ 5 ช่องจราจร จึงขออภัยในความไม่สะดวก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในระหว่างการปิดปรับปรุง ขณะนี้ผลงานที่ทำได้ 76.20% ประกอบด้วย งานรื้อผิวจราจรและโครงสร้างพื้นสะพานเดิมแล้วเสร็จ ติดตั้งโครงสร้างเหล็กสะพานแล้วเสร็จ งานปรับปรุงคานขวางแล้วเสร็จ งานปรับปรุงเชิงลาดแล้วเสร็จ ส่วนงานพื้นสะพานใหม่ทำได้ 72%

เมื่อโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่-ถนนรัชดาภิเษก (อโศก) แล้วเสร็จ จะทำให้สะพานมีความมั่นคงแข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น และเกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจร ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกจาก 20 ตัน เป็น 25 ตัน รองรับรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ให้สามารถใช้สะพานข้ามแยกดังกล่าวได้ คาดว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จสามารถเปิดการจราจรได้ในวันที่ 1 ก.ย.62

นายจักกพันธุ์กล่าวอีกว่าสำหรับโครงการก่อสร้างทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช เป็นทางลอดขนาด 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความกว้าง 10.80 ม. ความยาว 940 ม. ช่วงที่มีหลังคาทางลอดความยาว 386.20 ม. รวมระยะทางทั้งหมด 1,250 ม. ซึ่งการก่อสร้างทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช ประกอบด้วย การก่อสร้างพื้นถนนทางลอดและหลังคาทางลอด และการก่อสร้างพื้นถนนทางราบ ผลงานที่ทำได้ 97.53%

กทม.เผยสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีคืบหน้า76%

ส่วนโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมโยงโครงข่ายถนนสายหลักตามแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และเป็นถนนในแผนแม่บทผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 สาย ช.3 เริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนรามคำแหง 24 ไปตามแนวถนนกรุงเทพกรีฑา โดยมีทางลอดรถยนต์บริเวณแยกถนนกรุงเทพกรีฑา 7 เพื่อเบี่ยงแนวถนนตามแนวเวนคืนที่ดินใหม่ จากนั้นเป็นแนวถนนตรงไปข้ามทางหลวงหมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกตะวันตก) สิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้า-ถนนเจ้าคุณทหาร ระยะทาง 12 กม. มีช่องจราจร 6-10 ช่องจราจร 2 ทิศทาง

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วงที่ 1, 3, 4, 6, และ 7 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 ส่วนช่วงที่ 2 ตั้งแต่คลองหัวหมาก-คลองลำสาลี ประกอบด้วย การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ความยาว 560 ม. ผิวจราจรทางราบ ความยาว 420 ม. ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ขนาด 6 ช่องจราจร ความยาว 400 ม. และปรับปรุงถนนกรุงเทพกรีฑาซอย 9 ถึงซอย 28 โดยปูพื้นแอสฟัลต์ ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ความยาว 3,600 ม. ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดในช่วงที่ 2 บริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา

กทม.เผยสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีคืบหน้า76%

สำหรับช่วงที่ 5 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 ขนาด 6 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความยาว 940 ม. ผลงานที่ทำได้ 87.85% ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักการโยธาติดตามการก่อสร้างในช่วงที่ 5 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างในการปรับแผนการทำงานบริเวณสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 ตลอดจนกำชับเรื่องความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหรืออุปสรรคแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งการก่อสร้างในช่วงที่ 5 เป็นการติดตั้งโครงสร้างสะพาน โดยประกอบสำเร็จรูปจากโรงงาน และนำมาติดตั้งบริเวณสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 จากนั้นจะดำเนินการเชื่อมต่อสะพานทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามในระหว่างการก่อสร้างสะพานในฝั่งขาเข้าได้ตรวจพบรอยร้าวบริเวณพื้นผิวคอนกรีต 1 แห่ง ขณะนี้ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขรอยร้าว เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรง จึงทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้าไม่สามารถเปิดการจราจรตามแผนงานที่วางไว้ในเดือนก.ค.62