ส่อง 8 แบงก์ยังอู้ฟู่ฟาดกำไร ไตรมาสสอง 5.48 หมื่นล้าน

19 ก.ค. 2562 | 12:16 น.

แบงก์พาณิชย์ 8แห่งรายงานกำไรเพิ่มจิ๊บๆ ไตรมาสสองโต 4.58% ครึ่งปี 1.07แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ผลประกอบการลด เหตุตั้งสำรองฯเอ็นพีแอล –ครึ่งปีหลังของปีนี้ หวังรัฐบาลใหม่เดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

ส่อง 8 แบงก์ยังอู้ฟู่ฟาดกำไร ไตรมาสสอง 5.48  หมื่นล้าน

8 ธนาคารพาณิชย์รายงานผลประกอบสำหรับไตรมาส 2และงวด 6เดือนสิ้นสุดวันที่30 มิถุนายน 2562   มีกำไรสุทธิ  5.48หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น  4.58% และ 1.07แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,767ล้านบาท หรือ3.63 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.24หมื่นล้านบาท และ 1.03แสนล้านบาท  ตามลำดับ   โดย 4แบงก์กอดกำไรเหนียวแน่น  นำโดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  จำกัด(มหาชน)(บมจ.)   บมจ. ธนาคารกรุงเทพ   บมจ.ธนาคารกรุงไทย   ธนาคารทิสโก้ เป็นต้น

นายเซอิจิโระ อาคิตะ  กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความเสี่ยงด้านปัจจัยภายนอกที่เพิ่มมากขึ้นและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลมาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ กรุงศรีได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 3.2% แต่ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว คาดว่าแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการเดินหน้าลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามแผนการดำเนินงานของกรุงศรีอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก กรุงศรีจึงยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 6-8% ในปี 2562

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.80% ในไตรมาส 1 ปี 2562 เนื่องจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังสามารถประคองทิศทางการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง แต่คงต้องติดตามสถานการณ์หนี้และการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ บมจ.กสิกรไทย ไตรมาส2 กำไรลดลง  9.04% และครึ่งปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ลดลง 7.88%จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,960 ล้านบาท หรือ 6.16% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.30% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,475 ล้านบาท หรือ 17.46% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยและรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล   สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 3.40% ขณะที่สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่  30 มิถุนายน 2562 อยู่ที่ระดับ 157.95% โดยสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 160.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 อยู่ที่ 18.55% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.19%

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (ธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทย่อย) เปรียบเทียบกับงวดครึ่งปีแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,699 ล้านบาท ลดลง 11.9% จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (ทุนภัทร) และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร และ บลจ.ภัทร จำนวน 327 ล้านบาท

อนึ่ง ในไตรมาส 2/2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  19.7% เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจานวน 1,228 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2561 กำไรสุทธิลดลง 5.2% จากจำนวน 1,551 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561

กลุ่มธุรกิจฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ  5,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  10.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน  ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,146 ล้านบาท ลดลง 2.7%  จากงวดเดียวกันของปีก่อน  และรายได้อื่น 1,059 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  4.7% จากงวดเดียวกันของปี 2561