ธุรกิจบริหารพอร์ตรุ่ง ปั๊มเงิน มหาเศรษฐี

22 ก.ค. 2562 | 11:15 น.

 

เอชเอสบีซีชี้ พอร์ตมหาเศรษฐีเอเชียโตต่อเนื่อง แถมวางแผนส่งต่อมรดกให้ทายาท หนุนแบงก์รุกบริหารความมั่งคั่ง แนะกระจายพอร์ต รับมือความผันผวน เลี่ยงพฤติกรรมซื้อสูง ขายราคาที่ต่ำ เหตุครึ่งหลังตลาดยังผันผวนสูง

 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หรือยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงความไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐฯกับตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ ข้อตกลงการเลือกตั้งในภูมิภาคและนโยบายการคลังของกรรมาธิการยุโรป อาจทำให้การลงทุนทั่วโลกมีความผันผวนและมีแนวโน้มชะลอลงถึงเดือนสิงหาคม ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้หันกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ส่งผลให้ดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาลงอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนรวมถึงโจทย์ของการบริหารความมั่งคั่งในระยะข้างหน้าด้วย

นายฟิลลิป คุนซ์ ผู้อำนวยการบริหาร ธุรกิจ Private Banking ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจว่า ธนาคารมีมุมมองต่อปัจจัยพื้นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งมากในภูมิภาค หลายบริษัทกำลังขยายการดำเนินธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายแห่งกำลังขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง มีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จาก กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals: HNWI) และครอบครัวกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ธุรกิจบริหารพอร์ตรุ่ง  ปั๊มเงิน มหาเศรษฐี

ฟิลลิป คุนซ์

จากการที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับบริการเพื่อการลงทุนแบบครบวงจร (One bank approach) เรากำลังทุ่มงบประมาณลงทุนอย่างมากในเอเชียในด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มทีมบริการลูกค้าจำนวนมาก รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งของจุดขายผลิตภัณฑ์เพื่อลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงมาก (Ultra-high net worth) เพื่อจะเอื้อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงศักยภาพด้านวาณิชธนกิจของเรามากขึ้น ซึ่่งปีที่แล้วธุรกิจ Private Banking ได้ประกาศแผนงาน เพื่อเร่งการเติบโตของเครือข่ายสาขาในเอเชีย ซึ่งเราเน้นให้บริการตอบสนองความต้องการด้านความมั่งคั่งของลูกค้าองค์กรในเอเชีย

นอกจากนั้น ครอบครัวกลุ่มลูกค้ามหาเศรษฐียังต้องการวางแผนส่งต่อมรดกให้คนรุ่นถัดไปรับช่วงต่อ จากการที่ผู้บุกเบิกธุรกิจดั้งเดิมของเอเชีย เริ่มที่จะลดบทบาทลง จึงต้องช่วยบริหารจัดการโครงสร้างและให้คำปรึกษาในเรื่องที่มักจะคุยกันยาก และสนับสนุนการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

นายเจมส์ ชอ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ธุรกิจ Private Banking ธนาคาร เอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน ทั้งในรูปความเสี่ยงและผลตอบแทน นักลงทุนจำเป็นต้องกำหนดตัวชี้วัดหลัก 3 ตัว เพื่อวางกลยุทธ์ของตนเองได้อย่างถูกต้องคือ เป้าหมายความเสี่ยงที่เหมาะสม สมมติฐานตลาดทุนที่ได้จากการวิจัยที่เข้มแข็ง และเทคนิคการลดความผันผวนของผลตอบแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนที่เหมาะสม (optimisation techniques) ซึ่งเป็นผลจากความเสี่ยงที่หลากหลายในขณะนี้

สภาพตลาดเชิงโครงสร้างและความผันผวนช่วงโค้งสุดท้าย ต้องการการวางแผนลงทุนที่มองไปข้างหน้าและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมในการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน แนวทางของเรา จะเน้นการหาความสมดุลที่เหมาะสมสำหรับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในตลาดทั่วโลก และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่แฝงอยู่ในการลงทุนที่มาจากอคติทางพฤติกรรม

ธุรกิจบริหารพอร์ตรุ่ง  ปั๊มเงิน มหาเศรษฐี

อย่างเช่น การซื้อขายที่มากเกินไป (overtrading)ของนักลงทุนประเภทบุคคล โดยส่วนมากมักเป็นการซื้อในราคาที่สูงและขายในราคาที่ตํ่า ซึ่งเราเชื่อมั่นถึงประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง ผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ประเภ ทต่างๆ สามารถผันแปรอย่างมีนัยสำคัญตามระยะเวลาและยากที่จะคาดเดา ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วงเวลาหนึ่ง สามารถปรับตัวลดลงตํ่ากว่าเป้าเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ประสบผลขาดทุนยํ่าแย่ในช่วงเวลาถัดมา ดังนั้น การกระจายสินทรัพย์อย่างสมดุลทั่วทุกประเภทสินทรัพย์ตลอดวัฏจักรการลงทุนจะช่วยลดความสูญเสียและนำไปสู่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าครึ่งปีหลัง ความผันผวนยังสูง จึงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายชนิดและเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง เช่น ตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน หรือลงในกองทุนรวมผสมและกองทุนรวมทางเลือก รวมถึงกลุ่มหุ้นวัฏจักรคือกลุ่มสุขภาพ กลุ่มพลังงาน วัสดุการผลิตและเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์หรือ Community โดยเฉพาะนํ้ามัน หรือนํ้ามันดิบและทองคำ

เรามีกองทุนทั้งในและต่างประเทศถึง 17 กองซึ่งตอบโจทย์ ทุกสภาวะเศรษฐกิจ เช่น กองทุนรวมเทคโนโลยี กองทุนตราสารรายได้คงที่ช่วยบาลานซ์พอร์ต และรักษาผลตอบแทนท่ามกลางตลาดผันผวนสูงนายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจธนาคาร ซิตี้แบงก์ฯกล่าว

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562

ธุรกิจบริหารพอร์ตรุ่ง  ปั๊มเงิน มหาเศรษฐี